คำบัญชา เฉียบยุติ

วิ่งไล่ลุง ที่เชียงใหม่

กับ ผลสะเทือน

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

คำบัญชา เฉียบยุติ วิ่งไล่ลุง ที่เชียงใหม่ กับ ผลสะเทือน – อย่าว่าแต่คนรุ่น 14 ตุลาคม 2516 จะแปลกแยกเมื่อเผชิญกับคนในยุค “วิ่งไล่ลุง” ที่ออกมาแสดงออกอย่างคึกคัก ณ สวนรถไฟ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคมเลย

แม้กระทั่งคนรุ่นเดือนพฤษภาคม 2535 ก็ห่างเหิน

ขณะเดียวกัน อย่าคิดว่าคนรุ่นก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กับ คนรุ่นก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จะเป็นเนื้อเดียวกันกับพวกเขา

ลองฟัง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แล้วจะมองเห็นความห่างเหิน

บทสรุปที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ บรรดาคนรุ่นใหม่ที่ออกมาร่วม “วิ่งไล่ลุง” เป็นส่วนใหญ่พวกเขาคือ “เหยื่อ” จากสถานการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 และเมื่อปี 2557

พรรคการเมืองที่น่าจะสื่อสารกับคนรุ่นนี้ได้ใกล้เคียงมากที่สุดเป็นพรรคอนาคตใหม่ เพราะอายุ 40 ปีของพวกเขาอาจได้รับรู้กรณีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้ในตอนเป็นวัยรุ่น

และเริ่มเข้าใจมากขึ้นในห้วงก่อนรัฐประหาร 2549

และเริ่มเข้าใจความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อได้เห็นกระบวนการก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

จึงสามารถพูดภาษาเดียวกันกับ “นาว เจเนอเรชั่น”

อย่าได้แปลกใจหากจะเห็นภาพ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกไปวิ่งที่สวนรถไฟ ขณะที่ นายจอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ เดินทางมาสังเกตการณ์

มีบางคนสรุปว่าคนรุ่นใหม่ที่ลงทะเบียนร่วมวิ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม ไม่ได้เป็นเด็กนักเรียน อาจมีส่วนหนึ่งเป็นนิสิตนักศึกษา

แต่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน อายุระหว่าง 30-35

นี่คือความแตกต่างเป็นอย่างมากเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับส่วนใหญ่อันปรากฏผ่านกระบวนการเดินเชียร์ลุงที่สวนลุมพินีในวันเดียวกัน

คนในวัยนี้เองที่ออกมาขานรับ “ออกไป ออกไป” ดังกึกก้อง

คนในวัยนี้เองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะไม่ยอมให้ทำได้อีกในการจัดครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์

โดยสถานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถพูดเช่นนั้นและสามารถสั่งการได้ในทางปฏิบัติ

แต่คำถามก็คือเหมาะสม ถูกต้องหรือไม่

ขณะเดียวกัน อีกคำถามที่แหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ คำสั่งการเช่นนี้จะเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางการเมืองในเดือนมกราคม 2563 หรือไม่

เดือนกุมภาพันธ์จะมีคำตอบแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน