ดีลลับการเมือง

พลังประชารัฐ เพื่อไทย

ติดตรา‘เฟกนิวส์’

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ดีลลับการเมือง – ปฏิบัติการปล่อยข่าว “ดีลลับ” ปรากฏขึ้นในบรรยากาศแห่งการตระเตรียมญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หวังจะอาศัย “รอยแตก” ที่มีอยู่

1 เป็นรอยแตกภายในพรรคเพื่อไทยเมื่อมีการลดบทบาทคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และเพิ่มบทบาทให้กับคณะกรรมการกิจการพิเศษ

1 เป็นรอยแตกระหว่างพรรคเพื่อไทยกับบางพรรคร่วมฝ่ายค้าน

พร้อมกันนั้น ก็นำเอานามของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นเป้าล่อและเป็นตัวละครสำคัญเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทางด้านการข่าว

ปมที่ฝ่ายยุทธการของรัฐบาลและของพรรคพลังประชารัฐตั้งขึ้นก็คือ นำเอาสถานะและจุดเด่นของ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นอาวุธ

ในฐานะที่เป็น “ผู้จัดการ” รัฐบาล

เหมือนที่เคยปล่อยข่าวตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2557 ถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับบางคนในพรรคเพื่อไทย

เสริมบทบาทคนคนนั้นในพรรคเพื่อไทยให้โดดเด่น

ครานี้จึงเป็นการตั้งประเด็นขึ้นมาว่า ที่ไม่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เพราะบารมี และ คอนเน็กชั่นที่มีกับสิ่งที่เรียกว่า “มหาอนาคอนด้า” ในทางการเมือง

เหมือนกับฝ่ายยุทธการประเมินจาก 1 สภาพที่ผู้มีบารมีนอกประเทศ “โลว์ โปรไฟล์” ในทางการเมือง และ 1 ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมฝ่ายค้าน

เอาชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทะลวงเข้าไป “เสี้ยม”

กระนั้น จุดอ่อนก็ดำรงอยู่ภายในปฏิบัติการที่เรียกว่า “ดีลลับ” เพราะว่าการตัดสินใจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปมิได้เป็นเรื่องของพรรค เพื่อไทยพรรคเดียว

และจริงๆ แล้วคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยก็มิได้มีปฏิบัติการ

พลันที่คนระดับ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ออกมาปัดปฏิเสธ ประสานเข้ากับการยืนยันอย่างขันแข็ง จากระดับ นายภูมิธรรม เวชยชัย ปราสาททรายก็ พังครืน

จุดอ่อนเป็นอย่างมากของปฏิบัติการปล่อยข่าว “ดีลลับ” ก็คือ 1 เป็นความต่อเนื่องจากเฟกนิวส์ในเรื่อง “ฝากเลี้ยง” ส.ส. และ 1 คือเครื่องมือในการขับเคลื่อน

เมื่อเป็นการอาศัย “ปาก” เขี้ยวลากดินคนหนึ่ง

ยิ่งเมื่อปล่อยผ่านเครือข่ายอันเรียกขานกันว่า “สื่อ” พลังประชารัฐ ยิ่งทำให้สังคมสามารถจับร่องรอยได้อย่างไม่ยากลำบากเท่าใดนัก

“ดีลลับ” จึงแปรเป็น “เฟกนิวส์” โดยพลัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน