คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

หากเป็นก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 การออกมาตำหนิว่าพรรคการเมืองไม่มีการปฏิรูปจากปาก นายอลงกรณ์ พลบุตร

จะต้องได้รับ “ช่อดอกไม้” หลายช่อ

แต่เมื่อเป็นการกล่าวในบรรยากาศที่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะครบวาระ 3 ปีแทนที่จะเป็น “ช่อดอกไม้” กลับเป็น “ก้อนอิฐ”

กระทั่ง คนในพรรคประชาธิปัตย์ก็อืดเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว

สถานะของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่เคยโดดเด่นด้วยภาพของนักการเมืองรุ่นใหม่ มีพื้นฐานมาจากสื่อมวลชน เป็นนักเรียนนอก

ก็กลับกลายไปต่อคิวจาก นายวันชัย สอนศิริ โดยอัตโนมัติ

สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์จากก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2560 แปรเปลี่ยนเป็นอย่างมาก

“ช่อดอกไม้” จึงกลายเป็น “ก้อนอิฐ”

อย่าว่าแต่ นายอลงกรณ์ พลบุตร หรือ นายวันชัย สอนศิริ เลยที่รับรู้ต่อบรรยากาศและความรู้สึกในทางสังคมอย่างไม่เข้าใจ

แม้กระทั่งภายใน “คสช.” และ “รัฐบาล” ก็งุนงง

หากติดตามคำพูดไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ล้วนมีความมั่นใจในความเสียสละที่ตัดสินใจทำรัฐประหาร

การรับตำแหน่งใน “รัฐบาล” ก็เป็น “ความเสียสละ” อันสูงส่ง

ทั้งๆ ที่เกษียณจากราชการไปแล้วหลายปี แต่ยังยอมอดทน อดตาหลับขับตานอนมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เหตุใดสังคมจึงไม่เข้าใจ

ท่าทีจึงมากด้วยความไม่เข้าใจระคนหงุดหงิด

คำปลอบใจที่ว่า 3 ปีของคสช.มากด้วยผลงานที่ทำให้กับประชาชน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ล้วนมาจากนักการเมืองที่ต้องการเสนอตัวเพื่อมิให้ประชาชนลืม

สะท้อนปี่กลองการเมืองก่อน “การเลือกตั้ง”

กระนั้น คำถามที่ตามมาโดยฉับพลันทันใดคือ หากไม่อยากให้คนลืมทำไมต้องออกมาตำหนิ ทำไมไม่ใช้คำในแบบ นายวันชัย สอนศิริ หรือในแบบ นายอลงกรณ์ พลบุตร

“นักการเมือง” ย่อมสัมพันธ์กับประชาชนอย่างแนบแน่น

คำพูดแต่ละคำพูดของพวก “นักการเมือง” จึงแนบแน่นอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกของประชาชน เพราะว่าหากไม่สอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึกของประชาชนก็ยากจะได้รับความนิยม

ตรงนี้เท่ากับยืนยันว่า ประชาชนคิดอย่างไรต่อ “คสช.”

ก็อย่างที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ สรุปจากความจัดเจน นั่นก็คือ ในที่สุดก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน

เป็นการคืนอำนาจโดยผ่านกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” เพื่อตรวจสอบว่าประชาชนคิดอย่างไร และต้องการใครให้มาบริหารบ้านเมือง

เป็นการเลือกตั้ง มิใช่เป็นการรัฐประหาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน