คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ทั้งๆ ที่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แถลงตรงกันในเรื่องการสืบทอดอำนาจในทางการเมือง

ไม่ว่าจะระบุมาเพราะ “จำเป็น”

ไม่ว่าจะยืนยันแล้วยืนยันอีกว่า ไม่ต้องการ “อำนาจ” เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็พร้อมอำลาและกลับไปอยู่บ้าน

แต่เหตุใดผู้คนจึงไม่เชื่อ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนจากแวดวงทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา

แม้กระทั่งจากพรรคภูมิใจไทยก็ไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่น

เหมือนกับบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองจะมองทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยสายตาทางการเมืองมากจนเกินไป

หรือเพราะนักการเมืองเหล่านี้ได้ “กลิ่น”

มีความเชื่อต่อเนื่องกันมายาวนานแล้วว่า หากต้องการจะได้อำนาจในทางการเมืองจะต้องแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการหรือไม่มีความกระหายในอำนาจ

ต้องพูดแบบที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พูด

ยิ่งพูดว่าไม่ทะเยอทะยาน ไม่ต้องการตำแหน่งทางการเมือง ไม่ต้องการเป็นรัฐมนตรี ไม่ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี

ก็จะยิ่งเข้าใกล้ “ตำแหน่ง” เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

ท่าทีทางการเมืองในแบบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในแบบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฝ่ายการเมืองจึงมองว่าเป็นท่าทีในแบบของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

จึงคิดว่ายากเป็นอย่างยิ่งที่จะ “วางมือ” ทางการเมือง

ยิ่งกว่านั้น หากฟังถ้อยคำของพรรคการเมืองและนักการเมืองอย่างต่อเนื่องก็จะเห็นได้ว่า พวกเขาประเมินจากการอยู่ในอำนาจและการจัดวางโครงสร้างแห่งอำนาจ

ที่เด่นชัดเป็นอย่างมากก็คือ “รัฐธรรมนูญ”

ที่เด่นชัดเป็นอย่างมากก็คือ การขับเคลื่อน “โครงสร้าง” ต่างๆ เพื่อแวดล้อมกับบทบัญญัติภายใน “รัฐธรรมนูญ”

การเปิดกว้างให้กับนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

การกำหนดคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการจัดวางยุทธศาสตร์ไว้ล่วงหน้า การกำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภาให้อยู่ในการกำกับและควบคุม

ยิ่งติดตาม ยิ่งมองเห็นการจัดวาง “เครือข่าย” แห่งอำนาจ

ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับฝ่ายนักการเมือง จึงท้าทายเป็นอย่างสูง

ท้าทายว่าคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เชื่อถือได้หรือไม่ การคาดหมาย ของพรรคการเมืองและนักการเมือง เชื่อถือได้หรือไม่

นานไม่เกินปลายปี 2561 ทุกอย่างจะมี “คำตอบ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน