คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ท่วงทำนองของคสช.ประสานเข้ากับรัฐบาลในการเลื่อน “แถลงผลงาน” จากเดือนพฤษภาคมไปอยู่ที่เดือนกันยายนด้วยกัน

มิได้เป็นท่วงทำนองอย่างใหม่

ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนกับ “กลยุทธ์” ที่เคยใช้กับการกำหนดและประกาศสิ่งที่เรียกว่า “โรดแม็ป” นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้น

แรกทีเดียวก็เข้าใจกันว่าน่าจะมี “เลือกตั้ง” ภายในปี 2558

ต่อมาก็ขยับมาเป็นภายในปี 2559 และต่อมาก็ขยับมาเป็นภายในปี 2560 และขณะนี้ก็ขยับเป็นภายในปลายปี 2561

ทั้งยังมีเค้าลางเป็นนัยๆ ว่าอาจเป็นต้นปี 2562

การเลื่อนแถลง “ผลงาน” จากเดือนพฤษภาคมไปเป็นเดือนกันยายนจึงมิได้เป็นเรื่องแปลกอย่างประหลาด หากแต่เป็นธรรมดาอย่างปกติอยู่แล้ว

หากสงสัยก็ควรย้อนไปเปิดเพลง “ขอเวลาอีกไม่นาน” ฟังดู

บทเรียน 3 ปีจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ว่าจะมองผ่านคสช. ไม่ว่าจะมองผ่านรัฐบาลจึงอย่าติดอยู่กับคำแถลง หรือคำพูด

สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปในลักษณะ “แปรเปลี่ยน”

เหมือนกับที่พูดว่า “ประชาธิปไตย” แต่ก็มีขยายด้วยว่าอย่างมีลักษณะไทย เหมือนกับที่พูดว่า “ประชามติ” แต่ไม่ยอมให้มีการเคลื่อนไหวรณรงค์

ทำได้เฉพาะ “คสช.” ทำได้เฉพาะ “รัฐบาล”

หากใครแข็งขืนไม่เชื่อฟังอย่างนอบน้อม ออกมาเคลื่อนไหวก็มีชะตากรรมแบบเดียวกับนปช. แบบเดียวกับคนเสื้อแดง ป่านนี้คดีความยังอยู่ที่ศาลมากมาย

นี่คือ “ประชามติ” และนี่คือ “ประชาธิปไตย”

ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้สวนทางกับคำประกาศ สวนทางกับสภาพความเป็นจริงหรือแบบอย่างของประชาธิปไตย ในแบบอารยะอย่างเด่นชัด

คำถามก็คือ ทำไม “คสช.” ทำได้

คำตอบไม่มีอะไรสลับซับซ้อน 1 เพราะคสช.มีอำนาจและอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือของคสช.อย่างพร้อมมูล

การแข็งขืนจากนักการเมือง จากนักเคลื่อนไหวจึงเป็นเหมือนเสียงนกเสียงกา

ตราบใดที่ยังไม่มีปฏิกิริยารุนแรงเหมือนที่เคยปรากฏก่อนเดือนตุลาคม 2516 ก่อนเดือนพฤษภาคม 2535 การดำรงอยู่ของคสช.และของรัฐบาลก็ยังชอบธรรม

ชอบธรรมที่จะ “เลื่อน” หรือแถลง “ผลงาน” ตอนไหนก็ได้

ท่าทีของคสช.ต่อปฏิกิริยาอันเกิดจากการประเมิน 3 ปีของคสช.และรัฐบาลน่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้

ที่ว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณปลายปี 2561 ก็อาจไม่แน่ หรือแม้กระทั่งที่ว่าจะมีการเลือกตั้งต้นปี 2562 ก็ไม่แน่เหมือนกัน

หากคสช.ประเมินว่าประชาชนยังชอบบรรยากาศการเมืองเหมือนที่เป็นมา 3 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน