คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ไม่ว่าท่าทีอันมาจาก “ทหาร” ไม่ว่าท่าทีอันมาจาก “ตำรวจ” ต่อกัมปนาทแห่งระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามากด้วยความระมัดระวัง

ไม่ผลีผลาม ไม่ฟันธง

หากเปรียบเทียบกับหลังกัมปนาทระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ หากเปรียบเทียบกับหลังกัมปนาทระเบิดบนเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี

เปี่ยมด้วยความสุขุม มากด้วยคัมภีรภาพ

อาจเพราะเป็นระเบิดซึ่งเกิดขึ้นในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อันอยู่ในสังกัดของกองทัพบก และตั้งอยู่ใจกลางมหานคร และเกิดขึ้นกลางวันแสกๆ

นี่เท่ากับแหย่เข้าไปใน “รังเสือ”

ยิ่งกว่านั้น ยังเจาะจงซ่อนระเบิดไว้ในแจกันและไปวางไว้ในห้อง “วงษ์สุวรรณ” อันถือกันว่าเป็นห้องวีไอพีของนายทหารระดับสูงที่เกษียณจากราชการ

ยิ่งมากด้วยความอ่อนไหวในทางการเมือง

น้ำเสียงจึงให้ความสำคัญไปยังเป้าหมายอันเป็น “โรงพยาบาล” ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งที่จะวางระเบิด ดังคำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ว่า

แม้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เคยเกิด

สะท้อนให้เห็นว่า มือระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คำนึงแต่ผลในทางทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้ามโดยไม่แยกจำแนกว่าจะเกิดอะไรกับประชาชนผู้บริสุทธิ์

คิดแต่เพียงจะดิสเครดิต “รัฐประหาร” และ “คสช.” อย่างสุดโต่ง

กระนั้น หากนำเอารายละเอียดอันเกิดขึ้นจากระเบิดที่แวดล้อมอยู่กับโรงพยาบาลทหาร และเน้นไปยัง “ห้องวงษ์สุวรรณ” ก็จะประจักษ์ในเป้าหมาย

ความเกลียดชังในทางการเมืองนี้รุนแรง ล้ำลึกยิ่ง

น่าสังเกตว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีทางการเมืองอย่างหนักหน่วงและอย่างเป็นระบบมาอย่างต่อเนื่อง

จากปลายปี 2559 มายังปี 2560

เป็นความต่อเนื่องจากข้อกล่าวหาในเรื่อง “อโลฮา ฮาวาย” แม้กระทั่งการซื้อ “เรือดำน้ำ” ก็ถูกลากเข้าไปสัมพันธ์

ทั้งนี้ รวมไปถึงบ่อนชายแดน รวมไปถึงเงื่อนงำของดิวตี้ฟรี

น่าสังเกตว่า กระบวนการโจมตี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มิได้เริ่มต้นและมาจากคนของพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งนปช.คนเสื้อแดง

หากมาจากกลุ่มหนุนรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 กระทั่งปี 2557

อาจเป็นเพราะระเบิดอาจมีฐานมาจากคนที่เคยเชียร์รัฐประหารและรังเกียจกับบางองค์ประกอบ

ท่าทีไม่ว่าจะมาจาก “ทหาร” ไม่ว่าจะมาจาก “ตำรวจ” จึงมากด้วยความระมัดระวัง เพราะเห็นว่าล้วนเป็นคนกันเองจากขบวนการสนับสนุนรัฐประหาร

จึงไม่ผลีผลาม จึงไม่รีบฟันธง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน