คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

หากมองอย่างเปรียบเทียบกับ “ทหาร” ซึ่งเติบโตมาจากกระบวนการ “รัฐประหาร” ในอดีต ต้องยอมรับว่ากระบวนการของ “คสช.” มีความซับซ้อนมากกว่า

ทหารยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่อ้อมค้อม

หลังรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 หลังรัฐประหารเงียบเดือนเมษายน 2491 หลังรัฐประหารซ้ำเดือนพฤศจิกายน 2494

จากนั้นก็ตั้ง “พรรคเสรีมนังคศิลา” เตรียมลงเลือกตั้ง

ทหารยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คดเคี้ยวมากขึ้น หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 หลังเลือกตั้งเดือนธันวาคมปีเดียวกันก็จัดตั้งพรรคชาติสังคม แต่แล้วก็อดทนกับนักการเมืองไม่ไหวจึงได้รัฐประหารซ้ำในเดือนตุลาคม 2501

ร่างรัฐธรรมนูญกันยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน 2511

หากจับตารัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ทำท่าว่ามีบางอย่างเหมือนๆ กับท่าทีและลีลาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เห็นได้จากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ

แต่การเมืองยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเปลี่ยนผ่านมาถึงยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ก็มิอาจยื้อในเรื่องรัฐธรรมนูญได้ จำเป็นต้องประกาศและบังคับใช้ในปี 2511 จากนั้น ก็จัดตั้งพรรคสหประชาไทยเหมือนๆ กับพรรคเสรีมนังคศิลา

ผ่านการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 สามารถส่ง จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

แต่ถึงเดือนพฤศจิกายน 2514 ก็ต้องรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

เหมือนกับการไม่ประกาศสืบทอดอำนาจจะเป็นความชาญฉลาดอย่างหนึ่งของรัฐประหารยุค “คสช.” แต่ตรงนี้แหละที่กำลังกลายเป็นปัญหา

ยิ่งเมื่อเห็น “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ก็ยิ่งมองเห็นปัญหาแจ่มแจ้ง

เพราะกฎกติกาอันบัญญัติไว้ใน “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ต้องการรักษาและสืบทอด “อำนาจ” ทางการเมืองอย่างเด่นชัด แต่ “คสช.” ก็ประกาศว่า ไม่ต้องการอำนาจ ไม่หวงอำนาจ

ขณะเดียวกัน เมื่อแนวโน้มทางการเมืองเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่าหากมีการเลือกตั้งพรรคเดิม อันเป็นอวตารของพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทยก็ชนะ

ยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัว “การเลือกตั้ง”

เหมือนกับความปั่นป่วน ความวุ่นวายจะมีรากงอกมาจากฝ่ายการเมือง มิได้มาจากฝ่ายรัฐประหารหรือฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจอยู่

อาจใช่ แต่ก็ดำเนินไปในลักษณะที่โบราณเรียกว่า “ขนมพอผสมกับน้ำยา” คือ การเมืองก็เล่นบทบาทหนึ่ง ขณะเดียวกัน คสช.ก็เล่นบทบาทอีกอย่างหนึ่ง

ยิ่งคสช.ยอกย้อน ซ่อนเงื่อน ปัญหาก็จะยิ่งโผล่ออกมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน