คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

แต่เดิมพรรคภูมิใจไทยของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ถูกมองว่ามีแนวโน้มอาจเป็นพรรคประเภท “นอมินี” ให้กับทหาร ให้กับคสช.

พลันที่มีการเคลื่อนไหวภายในพรรคประชาธิปัตย์

สายตาที่ทอดมองไปยังพรรคภูมิใจไทย กับ สายตาที่ทอดมองไปยังพรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มมีความใกล้เคียงกันโดยอัตโนมัติ

แม้ “คำประกาศ” ที่ออกมาจะโอ่อ่าและอลังการมากกว่า

นั่นก็คือ กลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดกุมอำนาจอยู่พร้อมประกาศยืนยัน “หัวหน้าพรรค” ต้องเป็น “นายกรัฐมนตรี”

นั่นก็คือ แกนนำกปปส.เห็นด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรเป็น “นายกรัฐมนตรี”

ความโอ่อ่าอลังการอยู่ที่มิได้เดินเส้นทางเดียว ตรงกันข้าม ชูบุคคล 2 คนเหมาะสมกับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เหมือนกัน

ประชาชนวงนอก หากฟังจากกลุ่ม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็คือ “หัวหน้าพรรค” แต่หากฟังจากกลุ่ม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกรัฐมนตรีก็คือ “คนนอก”

และคนนอกคนนั้น คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหมือนกับว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการกวาดคะแนนเสียงจากฐานเดิมของพรรคที่เดินหนทางรัฐสภาด้วยความมั่นแน่ว

และต้องการกวาดคะแนนจากฝ่ายที่นิยมรัฐประหาร นิยมคสช.

เป้าหมายมิใช่เพื่อเอาชนะพรรคอย่างพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคชาติไทยพัฒนา ตรงกันข้ามต้องการเอาชนะพรรคเพื่อไทย

อาศัยบารมีของ “คสช.” มาเป็น “อาวุธ”

ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์หลังจากอ้าแขนรับแกนนำกปปส.คืนกลับ เหมือนกับจะทำให้เกิดอาการพร่าเลือนในทางการเมืองเมื่อเข้าสู่ “การเลือกตั้ง”

ทั้งๆ ที่แท้จริง กลับสร้างความแจ่มชัด

แจ่มชัดว่า แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ คือ แนวทางในแบบ “ตาอยู่” ต้องการกินหัว กินหาง กินกลางตลอดตัว

แจ่มชัดว่า แตกต่างกับพรรคเพื่อไทยอย่างสิ้นเชิง

เพราะพรรคเพื่อไทยนั้นมีท่าทีต่อต้าน “รัฐประหาร” ตั้งแต่ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2549 และที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้วอย่างไม่เคยแปรเปลี่ยน

เท่ากับมีทางเลือกให้ประชาชน 2 ทาง เอา หรือไม่เอา “รัฐประหาร”

คำประกาศของพรรคประชาธิปัตย์ คำประกาศของพรรคเพื่อไทย จึงก่อให้เกิดทางสะดวกของการเมืองไทยเด่นชัดขึ้น

ช่วยให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่าย เร็ว ประหยัด

หากเห็นด้วยกับ “รัฐประหาร” ก็เลือกพรรคประชาธิปัตย์และพรรคนอมินีของคสช. หากไม่เห็นด้วยกับ “รัฐประหาร” ก็เลือกพรรคเพื่อไทย

ประเด็นอยู่ที่ว่า อีกนานเพียงใดจึงจะได้ “เลือกตั้ง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน