คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ความห่วงใยต่อการแสดงและการแต่งตัวของนักร้องสาว ลำไย ไหทองคำ เป็นความห่วงใยที่สามารถเข้าใจได้

ไม่ว่าจะมองจาก ลำไย ไหทองคำ ไม่ว่าจะมองจาก จ๊ะ อาร์สยาม

คล้ายกับเป็นเรื่องอย่างที่นักสังคมวิทยาสรุปว่า เป็นภาพสะท้อนของช่องว่างระหว่างวัย เมื่อมีใหญ่แตกต่างกันมุมมองต่อปัญหาก็ออกมาแตกต่างกัน

อย่างเช่นที่ อาภาพร นครสวรรค์ สรุปอย่างรวบรัด

เนื่องจากวัยของ อาภาพร นครสวรรค์ มีความแตกต่างโดยพื้นฐานอย่าว่าแต่ ลำไย ไหทองคำ เลย แม้กระทั่ง จ๊ะ อาร์สยาม ก็ตาม

วัยของ อาภาพร นครสวรรค์ ไม่เหมาะอย่างยิ่ง

กระนั้น เรื่องวัยก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาอย่างแท้จริงมาจากความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมอันเป็นพื้นฐานการแสดงในแบบ ลำไย ไหทองคำ มากกว่า

ถามว่า ประเภทการแสดงของ ลำไย ไหทองคำ สามารถจัดเป็นการแสดงประเภทใดในกระสวนแห่งศิลปวัฒนธรรมแบบอีสาน

คำตอบ คือ “หมอลำซิ่ง”

แม้สำเนียงดนตรีจะมีการประสมประสานจากลักษณะร็อก แต่เนื้อแท้ของ “สาวขาเลาะ” ก็มีพื้นฐานมาจาก “หมอลำซิ่ง”

“หมอลำซิ่ง” อาจไม่เหมือนกับ “ลำตัด”

แต่ก็ต้องยอมรับลักษณะ “ร่วม” อย่างหนึ่งของลำตัดและหมอลำซิ่งว่า มีเนื้อหาที่คาบลูกคาบดอกอย่างชนิดหมิ่นเหม่อย่างที่เรียกกันว่า “สองแง่ สองง่าม”

เพียงแต่การแต่งกายของ “หมอลำซิ่ง” จะดุเดือดมากกว่า

หากจับเอาปฏิกิริยาที่มีต่อ ลำไย ไหทองคำ ก็เด่นชัดอย่างยิ่งว่าเป็นปฏิกิริยาอันเนื่องแต่การแต่งองค์ทรงเครื่องของ ลำไย ไหทองคำ เป็นสำคัญ

เรื่องนี้ ลำไย ไหทองคำ เข้าใจและยอมรับ

ขณะเดียวกัน ลำไย ไหทองคำ ก็ขอความเห็นใจอย่างเป็นพิเศษ เพราะว่ากระบวนการแสดงออกของเธอก็มาจากพื้นฐานมาจาก “หมอลำซิ่ง”

ยิ่งกว่านั้น การแสดงของเธอก็แยกจำแนกไปตามแต่ละพื้นที่

หากว่าเป็นการแสดงคอนเสิร์ตอันเป็นพื้นที่สาธารณะก็จะมากด้วยความรัดกุม แต่หากว่าเป็นการแสดงในพื้นที่จำกัดและแน่นอนอย่างที่เรียกว่าเฉพาะและรโหฐานก็จะมีลักษณะพิเศษ

ความรับผิดชอบของ “หมอลำซิ่ง” ก็ไม่ต่างจาก “ลำตัด”

ต้องยอมรับว่า “ปฏิกิริยา” อันปรากฏเป็นเรื่องของมุมมอง เป็นเรื่องการปะทะในทาง “วัฒนธรรม”

หากวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ นี่คือจุดต่างระหว่างวัฒนธรรมหลวง กับ วัฒนธรรมราษฎร์ เป็นการละเล่นชั้นสูง แบบแผน กับ การละเล่นในแบบพื้นบ้านของชาวบ้าน

“หมอลำซิ่ง” เป็นศิลปะของชาวบ้าน เป็นบันเทิงในแบบประชานิยม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน