คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เหมือนกับกรณีของ ลำไย ไหทองคำ จะเป็นเรื่องในพรมแดนของศิลปะและการแสดง เพราะเกี่ยวกับเพลงและเกี่ยวกับการเต้น

แต่เอาเข้าจริงๆ ก็สะท้อนลึกไปถึงปัญหา “ความคิด”

เป็นเรื่องมุมมองและความเห็นต่างอันเนื่องมาจากเพลง “สาวขาเลาะ” และลีลาการเต้นบนเวทีของ ลำไย ไหทองคำ

บางคนก็มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของวงการ “หมอลำซิ่ง”

ลองไปฟังเพลง “ปล่อยน้ำใส่นาน้อง” ซึ่ง เพชร สหรัตน์ ร้องตอบโต้กับ แพรวพราว แสงทอง ก็จะประจักษ์ในลักษณะอันฉวดเฉียดในทางภาษา

แรงยิ่งกว่า “สาวขาเลาะ” ของ ลำไย ไหทองคำ หลายเท่า

กระนั้น เมื่อทำความเข้าใจกับปฏิกิริยาและความเห็นต่างกลับกลายเป็นเรื่องของชนชั้น เป็นเรื่องอันสัมพันธ์กับการเมือง

น่าสนใจก็ตรงที่มีการนำเอาลีลาการแต่งตัวของ ลำไย ไหทองคำ ไปวางเคียงเรียงข้างกับลีลาการเต้นและการแต่งตัวของระบำปลายเท้า

ระบำปลายเท้าถือว่าเป็นศิลปะชั้นสูง

เป็นการแสดงที่สัมพันธ์กับเพลงคลาสสิคอย่างแนบแน่น มีการแสดงและชื่นชมกันในหมู่คนชั้นสูงเปี่ยมด้วยทรัพย์ศฤงคาร

ตรงกันข้าม “ผู้สาวขาเลาะ” กลับอยู่ในหมู่ “ชาวบ้าน”

การแสดงในแบบของ ลำไย ไหทองคำ จึงถูกตำหนิติเตียนว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีจำเป็นต้องส่งทหารและตำรวจเข้าไปควบคุม

ตรงกันข้าม กับระบำปลายเท้ากลับทอดมองด้วยความชื่นชม

อย่าว่าแต่ลีลาในแบบ ลำไย ไหทองคำ เลย แม้กระทั่งระหว่างระบำปลายเท้ากับการเต้นในแบบโมเดิร์นแดนซ์ หรือแจ๊ซแดนซ์ ก็ถูกมองด้วยสายตาต่างกัน

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องเอ่ยถึง อาร์ แอนด์ บี หรือ ร็อก แอนด์ โรล

นักร้องอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ เคยถูกประณามหยามเหยียดจากผู้ดีอย่างต่อเนื่อง หาว่าเก็บรับอิทธิพลจากเพลงบลูซึ่งเป็นของคนผิวดำ

วงการเพลงก็แบ่งออกเป็น “ลูกกรุง” เป็น “ลูกทุ่ง”

รสนิยมของผู้ฟัง ผู้เสพ ก็แบ่งออกเป็นคนในมหานคร กับ คนต่างจังหวัด คนบ้านนอก อยู่ในไร่ในนา การศึกษาน้อย

ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของ “ชนชั้น” เป็นเรื่องของความนิยม

ถามว่าความสุขจากรสแห่งเพลงระหว่าง “ซิมโฟนี” กับสาวขาเลาะโดย ลำไย ไหทองคำ ดำเนินไปอย่างไร

เป็นไปได้หรือที่ความสุขจาก ลำไย ไหทองคำ กับ ความสุขจากซิมโฟนีหมายเลขต่างๆ จะแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สุขของใครก็สุขของมัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน