คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

จากปฏิกิริยาประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ. “บัตรทอง” ซึ่งเริ่มต้นปรากฏผ่านเวทีภาคใต้ จังหวัดสงขลา เริ่มดำเนินไปในลักษณะแพร่ระบาด

จากภาคใต้ไปยังภาคเหนือ

จากภาคเหนือไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทวีความร้อนแรงเป็นลำดับเมื่อเปิดเวทีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สร้างความหงุดหงิดให้กับคสช.และรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

การจัดส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อยในเวทีประชาพิจารณ์ กรุงเทพมหานคร อาจสะท้อนความจัดเจนของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) แต่ก็ทำให้กรณี บัตรทอง กลายเป็นประเด็น

เป็นประเด็นโยงไปยัง “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญ

การผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญของคสช.และรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 อาจถือเป็นความสำเร็จอันงดงาม 1 ในทางการเมือง

กระทั่งไอ้ห้อยไอ้โหนบางคนคิดจะต่อยอดตั้ง “พรรคการเมือง”

เป็นพรรคการเมืองสนับสนุนรัฐประหาร เป็นพรรคการเมืองที่ปวารณาตัวเป็นฐานให้กับการสืบทอดอำนาจของคสช.

อาศัยความสำเร็จจาก “ประชามติ” เป็นกระดานหก

โดยมองข้ามกระบวนการก่อน “ประชามติ” ว่าดำเนินไปในลักษณะมัดมือชก และรณรงค์ได้ฝ่ายเดียวคือฝ่ายรับ และไล่จับไล่ฟ้องฝ่ายไม่รับอย่างไร

พอมาถึงประชาพิจารณ์ “บัตรทอง” คนก็ร้องอ๋อ

กระบวนการสนับสนุนประชาพิจารณ์ในกรณีร่างพ.ร.บ. “บัตรทอง” ของรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข นับว่าแจ่มชัดอย่างเป็นรูปธรรม

“ภาคประชาชน” มองออก ทะลุปรุโปร่ง

ไม่ว่าจะเป็นเวทีที่ภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเวทีที่ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเวทีที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และไม่ว่าเวทีล่าสุดที่กทม.

ลอกเลียนแบบมาจากกระบวนการก่อน “ประชามติ”

จะแตกต่างก็เพียงแต่ก่อนเดือนสิงหาคม 2559 เป้าหมายคือบล็อกบรรดานปช.คนเสื้อแดง รวมถึงพรรคเพื่อไทย แต่มาคราวนี้เป็นเอ็นจีโอ เป็นภาคประชาชน

ขบวนการ “ตาสว่าง” จึงกระจายออกไปกว้างขวาง

หากมองจากคสช. หากมองจากรัฐบาล ต้องการปรับและเปลี่ยนแปลง “30 บาท รักษาทุกโรค” แน่นอน

เป็นการขับเคลื่อนตั้งแต่ยุค “นกหวีด” ประสานเข้ากับการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในเดือนสิงหาคม 2558

แต่จะสำเร็จหรือไม่ ยังต้องติดตามกันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน