คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ไม่ว่าความเชื่อของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่าความเชื่อของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ที่สรุปว่านายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มาจาก “ความเชื่อ” ต่ออะไร

คำตอบหลักเลยมาจากความเชื่อบนพื้นฐานแห่งบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ที่วางเครือข่ายดักหน้าดักหลังไว้อย่างสมบูรณ์ รอบด้าน

เริ่มตั้งแต่การจัดระบบการเลือกตั้งใหม่ มิให้มีพรรคใดเป็นพรรคใหญ่

เท่ากับสรุปบทเรียนมาจาก “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540” ที่เปิดโอกาสให้พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ แต่ลิดรอนและตัดโอกาสพรรคการเมืองอื่น

ตามมาด้วยที่มาของ “ส.ว.” โดยการแต่งตั้ง

เพียงผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. และกระบวนการลากตั้ง ส.ว. บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายก็อยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยเสียขา

เพราะไม่มีพรรคใดกุมเสียงข้างมากอย่างขาดลอย

ที่แน่ๆ ก็คือ ไม่มีพรรคการเมืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จำเป็นต้องหาพันธมิตรเพื่อจัดตั้งเป็น “รัฐบาลผสม”

เพียงแค่นี้อำนาจการต่อรองก็ย่อมอ่อนด้อยลง

ยิ่งความเป็นจริงที่ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถจับมือเป็นพันธมิตรกันได้ หนทางที่พรรคการเมืองอื่นนอกเหนือจากพรรคเพื่อไทยจะจับมือเป็นพันธมิตรและร่วมกับ ส.ว.หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีสูงยิ่ง

ทุกคนก็รู้อยู่แล้วพรรคการเมืองมี “ธรรมชาติ” อย่างไร

พรรคการเมืองไทยนั้นชมชอบอย่างยิ่งต่อการได้เป็นรัฐบาล แม้ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเองก็อยู่ในลักษณะที่มีความพร้อมที่จะร่วมเป็นรัฐบาล

ระบอบประชาธิปไตย “ครึ่งใบ” เกิดขึ้นเพื่อสนองตรงนี้

แม้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ได้ลงเลือกตั้งก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ด้านหลักคือ ส.ว. ด้านรองคือ ส.ส.

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็อาศัย “ธรรมชาติ” ตรงนี้

จึงไม่แปลกที่ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” จะตระเตรียมองค์ประกอบและเงื่อนไขอย่างนี้ไว้พร้อมสรรพและด้วยความพร้อมที่กระชับมากยิ่งขึ้น

บัญญัติทุกอย่างเพื่อตีกันโอกาสของ “พรรคเพื่อไทย”

จึงมิได้เป็นเรื่องแปลกที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะเชื่ออย่างนี้ จึงมิได้เป็นเรื่องแปลกที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล จะเชื่ออย่างนี้

การบ้านจึงตกอยู่กับ “มันสมอง” ของ “พรรคเพื่อไทย”

จะสามารถแก้เกมและวางกลยุทธ์ในการเลือกตั้งอย่างไรจึงจะตีฝ่าบรรดา “กับดัก” ที่บัญญัติไว้ใน “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน