คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ประหนึ่งว่าการชี้นิ้วกล่าวหาว่า “การเมือง” ทำให้ราคายางพารากลายเป็นประเด็น กลายเป็นปัญหา จะดำเนินไปตามความเคยชิน

เคยชินในแบบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยชินในแบบการยางแห่งประเทศไทย อันถือเป็นสถาบันเกิดใหม่เพื่อเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องของยางพาราโดยตรง

เมื่อ 2 หน่วยงานนี้คิดแบบนี้ก็นำเสนอไปยัง “เบื้องบน”

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือแม้กระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมีบทสรุปไปในแนวทางเดียวกันกับของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยังรัฐบาลและไปยังคสช.

มองเห็นว่า “การเมือง” ทำให้กลายเป็น “ปัญหา”

ความจริง จะโทษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่น่าจะเป็นธรรม จะโทษ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ไม่น่าจะเป็นธรรม

เพราะเมื่อมีเรื่อง “ยางพารา” คนก็คิดถึง “ชะอวด โมเดล”

นั่นคือ สถานการณ์การปิดถนนประท้วงยืดเยื้ออันมีจุดเริ่มต้นในพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช กระทั่งกลายเป็น “ต้นแบบ” ไม่เพียงแต่มีการ “ชัตดาวน์” ภาคใต้โดยมีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่ถนนสายหลักของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และก็นำไปสู่ “ชัตดาวน์” กทม.ในเดือนมกราคม 2557

ไม่เพียงแต่จะชัตดาวน์กทม. หากแม้กระทั่งการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ก็ถูกสกัดกั้นปิดล้อมจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

และที่สุดก็นำไปสู่รัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

ยิ่งเข้าไปเจาะเฉพาะบรรดา “แกนนำ” ที่เคยแสดงบทบาทผ่าน “ชะอวด โมเดล” และเข้าไปร่วมส่วนในการเคลื่อนไหวของกปปส.ก็จะยิ่งเห็นได้เด่นชัด

เด่นชัดว่าแต่ละคนมีป้าย “การเมือง” ติดอย่างเปิดเผย

เป็นการเมืองที่ไม่เพียงแต่แสดงผ่านองค์กร กลุ่มของเกษตรกรชาวสวนยาง หากแต่ยังสัมพันธ์กับพรรคการเมืองบางพรรค

อาศัยประเด็น “ยางพารา” เป็นปลายหอกพุ่งเข้าใส่ “รัฐบาล”

ผลที่ตามมาในเดือนพฤษภาคม 2557 คือได้รัฐประหารสามารถโค่นรัฐบาลที่ไม่ต้องการลงไปและก็ได้คสช.กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแทน

และแล้วในเดือนกรกฎาคม 2560 ก็มีการเคลื่อนไหวอีก

ตัวอย่างเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวเรื่องยางพาราเป็นเรื่อง “การเมือง” โดยบรรดานักเคลื่อนไหวหน้าเดิมๆ

ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมองไม่ออก

ทำไม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมองไม่ออก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน