คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เบื้องหน้าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นำไปสู่การแยกกลุ่ม แตกขั้วในทางการเมือง

ระหว่างความเห็นจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างความเห็นจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินไปอย่างเป็นเอกภาพ

มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างสูงว่าน่าจะ “ปราบโกง” ได้อย่างชะงัด

ขณะเดียวกัน ความเห็นอันทยอยออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ล้วนเดินไปในแนวเดียวกันกับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับเสียงอันมาจากพรรคเพื่อไทย

การยืนอยู่คนละมุมระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย

สามารถเข้าใจได้ ไม่นอกเหนือการคาดคิด

เพราะไม่ว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายแห่ง “แม่น้ำ 5 สาย” อันงอกขึ้นมาจากคสช.

ย่อมเดินไปตามแนวทางที่คสช.กำหนด

ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์จึงสะท้อนให้เห็นความโน้มเอียงของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเด่นชัดว่าเอนไปในทิศทางใด

นั่นก็คือ เอนไปในทางเดียวกันกับ “คสช.”

การที่พรรคประชาธิปัตย์เอนไปทางคสช. การที่พรรคเพื่อไทยออกมาคัดค้าน ต่อต้าน อย่างชนิดที่ฝ่ายของคสช.สรุปว่า “ดิ้นพล่าน” เป็นเรื่องที่สำคัญ

สำคัญว่าทิศทางของ “คสช.” คืออะไร

ยิ่งเมื่อพรรคประชาธิปัตย์แสดงออกในเชิงเห็นด้วยและหนุนแนวทางของคสช.อย่างเต็มพิกัด ยิ่งทำให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีทิศทางที่แน่วแน่ ชัดเจน

นั่นก็คือ ทิศทางที่จะมาทำให้บทสรุปของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร “เสียของ” ได้รับการถม

โดยกระบวนการของรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ในเมื่อเป้าหมายของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเท่ากับตัดกำลังของพรรคเพื่อไทย นั่นหมายถึงโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้พรรคเพื่อไทยมิอาจขยับ ขับเคลื่อนได้อย่างปลอดโปร่ง

ทั้งหมดจึงเป็นผลดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ เป็นปัจจัยที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสถานะอันเหนือกว่าพรรคเพื่อไทย

นี่คือการชิงความได้เปรียบในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน