ใครที่เคยหมิ่นหยามพรรคเพื่อไทยว่า ไม่มีน้ำยา หมดบทบาททางการเมืองไปแล้วนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

อาจต้องมอง “ใหม่”

พลันที่มีรายงานยาวเหยียดจากคสช. แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในวันที่ 25 สิงหาคม ปรากฏผ่านหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับในเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม

อาจต้องมองพรรคเพื่อไทยด้วยสายตาที่แปลก แตกต่าง

เพราะว่ากระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ถึงแนวโน้มต่างๆ ในวันอ่านคำตัดสินคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้วนวางน้ำหนักไปยังบทบาทและความหมายของพรรคเพื่อไทยในทางการเมืองทั้งสิ้น

เป็นเช่นนั้นได้จริงละหรือ

ที่ประชุมของคสช.หยิบยกเอาสภาพการณ์ที่ปรากฏขึ้นในเช้าวันที่ 21 กรกฎาคม มาเป็นต้นเรื่องและมองไปยังแนวโน้มของวันที่ 25 สิงหาคม

นี่คือรากฐานและมูลฐานของความวิตก

เพราะว่าเดิมคสช.ประเมินว่า บริเวณหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น่าจะเกิน 500 แต่เอาเข้าจริงๆ มากกว่า 500 และทำท่าว่าจะถึง 1,000

ภาพที่ก่อให้เกิดความหวั่นไหวมากกว่านั้นก็คือ บรรดาอดีตส.ส.ของพรรคเพื่อไทยต่างเดินทางไปกันเป็นอย่างมาก

เท่าที่ปรากฏในรายงานของสื่อประกอบด้วย อดีตรัฐมนตรีและอดีตส.ส.จากทุกภาคของประเทศ

เมื่ออดีตส.ส.มา มวลชนก็ตามมา

ข้อน่าพิจารณาก็คือ คำเตือนอันออกมาจากคสช.และที่จะส่งเจ้าหน้าที่ทหารในนามกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ไปทั่วประเทศขอให้รับฟังอยู่ที่บ้าน ไม่ควรเดินทางเข้ากทม.

คำเตือนนี้ต่อพรรคเพื่อไทย บรรดาแกนนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาอดีตส.ส.ของพรรคเพื่อไทยคงไม่สามารถขยับขับเคลื่อนอะไรได้

เพราะนี่เป็นคำเตือนเดียวกันกับที่ออกมาจาก “รัฐบาล”

ประเด็นอยู่ที่ว่า ต่อคำเตือนอย่างนี้หากประชาชนโดยทั่วไปที่เขารักและห่วงใยต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาจะออกมาด้วยตนเอง ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย จะมีความผิดหรือไม่

เป็นความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในทางการเมือง

ความละเอียดอ่อนอยู่ตรงที่นี่คือความรู้สึกส่วนตัว เป็นความผูกพันในทางส่วนตัวของบรรดาแฟนคลับของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เมื่อเขารัก เขาก็ย่อมมีความห่วงใย และความห่วงใยนี้พวกเขาก็แสดงออกอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปศาลรวมแล้ว 16 ครั้งตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

เป็นความละเอียดอ่อนจากความรัก ห่วงหาและอาทร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน