คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อาการอันมาจาก “กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย” หรือ “กกล.รส.” ตามคำสั่งด่วนของ “คสช.” สะท้อนนัยยะอะไรในทางการเมือง

คำตอบ คือ ความกลัว

ในเบื้องต้นจากกระบวนการวิเคราะห์อาจพุ่งไปยังปริมาณของมวลชนที่แวดล้อม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเช้าวันที่ 21 กรกฎาคม บริเวณศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ที่คาดว่าไม่น่าจะเกิน 500 กลับเหยียบ 1,000

ทั้งๆ ที่ไม่ว่าหัวหน้าคสช. ไม่ว่าเลขาธิการคสช. ต่างเรียงแถวหน้ากระดานออกมาป้องปรามอย่างขึงขังให้รับฟังข่าวอยู่ที่บ้าน กลับไม่ยอมฟัง ไม่ยอมปฏิบัติตาม

แค่นั้นหรือที่ทำให้คสช.บังเกิดความกลัว

หากมองอย่างสังเคราะห์ประสานกับการวิเคราะห์ ก็น่าเห็นใจคสช. น่าเห็นใจกกล.รส. เพราะว่าความกลัวมาจากหลายองค์ประกอบประสานเข้าด้วยกัน

มวลชนบริเวณหน้าศาลอาจเป็นส่วน 1

เพราะตลอดระยะเวลาที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏตัวที่ศาลจำนวน 16 ครั้งจากปี 2559 กระทั่งทะลุปี 2560 ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ

อีกส่วน 1 คือ ฐานทางการเมืองของ “เพื่อไทย”

เพราะระยะเวลาการเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียง 49 วันก็สามารถกำชัยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 อย่างชนิดถล่มทลาย

ตรงนี้เท่ากับมีมวลชนชมชอบไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน

ยิ่งกว่านั้นอีกส่วน 1 ซึ่งไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ ปริมาณคนที่เข้าไปติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวมีมากถึง 6,000,000 กว่าวิว

ทั้งเป็นปริมาณที่ทะยานขึ้นอย่างน่าสังเกต

ตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี อาจไม่มากนัก น้อยกว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยซ้ำไป

แต่พอหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 กลับพุ่งกระฉูด

หากนำเอาปริมาณ 6,000,000 กว่าวิวผนวกรวมเข้ากับปริมาณ 10,000,000 กว่าเสียงที่ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย ก็เท่ากับ 16,000,000 กว่า

16 ล้านกว่านี่แหละทำให้เกิดอาการขนหัวลุก

น่าสังเกตว่าเมื่อประสบกับการขยับเพื่อ “ป้องปราม” และตั้งรับจากคสช.ผ่านกระบวนการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เงียบอย่างสงบ

ไม่มีการออกมาให้ความเห็น ไม่มีการเดินทางไปไหว้พระ หรือไปพบแฟนานุแฟนอย่างที่เคยปฏิบัติก่อนหน้านี้

ความเงียบ ความสงบ นี่ต่างหากยิ่ง “น่ากลั๊ว”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน