คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ชะตากรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เบื้องหน้าคดีจากโครงการรับจำนำข้าวกำลังเป็นหินลองทองอันคมแหลมพิสูจน์สถานะของพรรคเพื่อไทย

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “พรรค”

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า โครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบาย 1 และนโยบายสำคัญที่ใช้ในการหาเสียงก่อนเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

เป็นปัจจัยทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะ

1 ทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และ 1 ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

คำถามอยู่ที่ว่าพรรคเพื่อไทยคิดอย่างไรในเรื่องนี้

ในความเป็นจริง โดยสถานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเท่ากับเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยเข้าไปอยู่ในความเป็นประมุขแห่งอำนาจบริหาร

นโยบายของพรรคก็กลายเป็นนโยบายของรัฐบาล

นี่เป็นสิ่งที่กลายเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งนับแต่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2544 นับแต่พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2550

นโยบายนี้ผ่านที่ประชุมครม. ผ่านมติของรัฐสภา

ไม่ว่าจะมองผ่านขนบอันเป็นธรรมนิยมของระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมองผ่านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โครงการรับจำนำข้าวมาอย่างถูกต้อง

คำถามอยู่ที่ว่าพรรคเพื่อไทยคิดอย่างไรในเรื่องนี้

หากพรรคเพื่อไทยเห็นว่าคดีอันเนื่องแต่โครงการรับจำนำข้าวเป็นความรับผิดชอบของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอันมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนกลาง

พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องคิดในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อคดี ท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อชะตากรรมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังประสบอยู่ในขณะนี้จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับแต่ง

ปรับแต่งให้แสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้

บทสรุปเช่นนี้มิได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องแปรเรื่องนี้ให้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองและนำไปสู่การจัดม็อบ ชุมนุมทางการเมืองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา หากแต่พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเป็นรูปธรรม

นั่นก็คือ ขยายรูปธรรมจากวันที่ 21 กรกฎาคมให้อบอุ่นมากยิ่งขึ้น

เนื้อหาใจกลางแห่งท่าทีของพรรคเพื่อไทยยังต้องยึดกุมและเคารพต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัดและมั่นแน่ว

เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจในเรื่องของ “กำลังใจ”

เป็นความเข้าใจทั้งในนามพรรคเพื่อไทยและระหว่างมวลชนของพรรคเพื่อไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน