คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อะไรคือเป้าหมายในการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการตำรวจสันติบาลไปแจ้งความกล่าวโทษ นายวัฒนา เมืองสุข ว่าทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ตอบได้เลยว่าเพื่อ “ป้องปราม”

ป้องปรามมิให้ นายวัฒนา เมืองสุข เคลื่อนไหว และยิ่งมีการขยายผลไปยังพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกยิ่งเท่ากับตัดแข้งตัดขา

ต้องการสยบมิให้ส่งผลสะเทือนต่อวันที่ 1 และวันที่ 25 สิงหาคม

กระบวนการเช่นนี้เหมือนกับที่เคยปฏิบัติอย่างได้ผลมาแล้วในกรณีของวัดพระธรรมกาย เห็นได้จากการออกหมายเรียกกระทั่งออกหมายจับไปยังบรรดา “โฆษก” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพระ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส

เพียงแต่ในกรณีของ นายวัฒนา เมืองสุข จะได้ผลหรือไม่

หากติดตามกระบวนท่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินหน้าตามพิมพ์เขียวของ “แผนกรกฎ 52” ก็จะสัมผัสได้ถึงการรุก ช่วงชิงเป็นการฝ่ายกระทำ

1 วันที่ 27 กรกฎาคม ตำรวจสันติบาลแจ้งความที่กองปราบปราม

1 วันที่ 28 กรกฎาคม ตำรวจกองปราบปรามขยายผลไปยังข้อความในเฟซบุ๊กประสาน บก.ปอท.ให้ตรวจสอบเพื่อนำไปสู่ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เท่ากับมี มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ

หากพยานหลักฐานมีความพร้อมก็จะนำไปสู่การออก “หมายเรียก” และหาก นายวัฒนา เมืองสุข ไม่มาตามหมายเรียกก็จะพัฒนาไปสู่ “หมายจับ”

ถามว่าท่าทีของ นายวัฒนา เมืองสุข เป็นอย่างไร

ปรากฏว่า ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของสันติบาล ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของกองปราบปราม ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของบก.ปอท. มิอาจสร้างความหวาดกลัวให้กับ นายวัฒนา เมืองสุข ได้อย่างฉับพลัน

นายวัฒนา เมืองสุข ยังคงโพสต์ข้อความผ่าน “เฟซบุ๊ก”

ไม่เพียงแต่ให้คำอธิบายว่า การกระทำของเขาไม่ได้เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

หากแต่ยังยืนยันที่จะเดินทางไปในวันที่ 1 และวันที่ 25 สิงหาคม

ทั้งยังบอกด้วยว่า หากประชาชนจะเดินทางไปที่หน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่มีความผิด หากมีเสรีภาพที่จะทำได้

ทั้งยืนยัน ทั้งท้าทายไปด้วยพร้อมๆ กัน

แม้ว่าเจตนาของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งดำเนินการตาม “แผนกรกฎ 52” ต้องการสกัดเพื่อให้มีผลต่อวันที่ 1 สิงหาคม เป็นเบื้องต้น

แต่ดูเหมือนว่าจะมีแรงสะเทือนไม่มากนัก

เพราะการขับเคลื่อนของตำรวจยังเสมอเป็นเพียงความพยายามที่จะออก “หมายเรียก” ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้น “หมายจับ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน