คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เป็นอันว่า ไม่ว่าคำสั่ง “คสช.” ประสานกับการเปิดประเด็นค่าจ้าง 1,500 บาทต่อหัว อันมาจาก “สนช.” รวมถึงแผนเล่นงาน นายวัฒนา เมืองสุข ผ่านประมวลกฎหมายคดีอาญา มาตรา 116

ไม่ได้ผล

ที่ทีมงานโฆษกคสช.ออกมายืนยันว่า “มวลชน” จะน้อยกว่าการมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นั่นก็คือ แผ่วลงและจุดไม่ติด

ก็กลับเป็นตรงกันข้าม

ดูจากที่โทรทัศน์ช่อง เดอะ เนชั่น ช่องสปริงนิวส์ ถ่ายทอดสด และฟังจากรายงานของนักข่าวในภาคสนาม กลับมากด้วยความคึกคัก

และเด่นชัดว่าเป็น “กำลังใจ” ล้วนๆ

สัมผัสจากบรรยากาศการปรากฏขึ้นของ “มวลชน” สำแดงออกอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่มีกระมิดกระเมี้ยน

นั่นก็คือ พวกเขาสงสาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ด้านหลักอาจเป็นคนในพื้นที่กทม. ขณะเดียวกัน ด้านเสริมอาจมาจากปริมณฑลอย่างเช่น นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ

เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ของไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย

น่าสังเกตว่าส่วนประกอบมิได้เป็นสุภาพสตรีและเป็นคุณยาย คุณย่าและป้าเหมือนที่เคยเห็น หากแต่ยังมีน้ำเสียงเข้มกร้าวจากบรรดาชายอกสามศอก ตะโกนคำว่า นายกฯสู้ นายกฯสู้ ดังกึกก้องบริเวณหน้าศาล

เห็นเช่นนี้แล้วชวนให้นึกถึงวันที่ 25 สิงหาคมอย่างเป็นพิเศษ

ไม่ว่าในที่สุดคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะออกมาในด้านใดมุมใด

เป็นผลดี หรือเป็นผลเสียต่อ “จำเลย”

แต่เป็นอันเด่นชัดว่า ภาพลักษณ์ทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อผ่านจากคดีโครงการรับจำนำข้าวไปแล้วจะไปอยู่ในอีกสถานะหนึ่ง

เป็นสถานะที่ใกล้เคียงกับ “พี่ชาย”

นั่นก็คือ แม้โอกาสที่จะหวนกลับมาแสดงหรือมีบทบาทในทางการเมืองได้ยุติลงไปแล้วโดยพื้นฐาน แต่ที่เข้ามาแทนที่คือ “บารมี” ในทางการเมืองสูงเด่น

ถือเป็นปฏิมา 1 ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องชู

ถามว่าเป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คืออะไร ถามว่าเป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คืออะไร

ปี 2549 คือ โค่นล้มและทำลาย “ทักษิณ”

ปี 2557 คือ โค่นล้มและทำลาย “ยิ่งลักษณ์”

คำถามอันตามมาอย่างแหลมคมยิ่งก็คือ สามารถบดขยี้และทำลายได้หรือไม่ในทางเป็นจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน