วิเคราะห์การเมือง

กรณีของ ปู พงษ์สิทธิ์ เหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างการแสดงบนเวที ไม่ว่าเวทีคอนเสิร์ต ไม่ว่าเวทีตามผับหรือร้านอาหาร

เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ล้วนแต่เป็น “แฟนานุแฟน”

กล่าวในแง่การแสดง ปู พงษ์สิทธิ์ ก็เช่นเดียวกับ แอ๊ด คาราบาว นักร้องรุ่นพี่ที่ผ่านประสบการณ์ในแบบ “อนาธิปไตย” อันเกิดขึ้นระหว่างการแสดง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกพวกตีกันของแต่ละกลุ่มผู้รับชม

แต่ประสบการณ์ในแบบที่เมื่อเรียกร้องแล้วไม่ได้ตามความปรารถนาถึงกับชักปืนออกมาข่มขู่ คุกคาม เช่นนี้กล่าวสำหรับ ปู พงษ์สิทธิ์ อาจเป็นครั้งแรก

และการตัดสินใจแก้ปัญหาก็อาจเป็น “ครั้งแรก” เหมือนกัน

หากมองจากพื้นฐานการเติบโตของ ปู พงษ์สิทธิ์ ไม่ว่าในทางความคิด ไม่ว่าในทางดนตรี ก็สามารถเข้าใจได้ในความร้อนแรงของการตัดสินใจ

เพราะว่า ปู พงษ์สิทธิ์ ก็เคยเป็น “นักเรียนอาชีวะ”

เพราะว่าเส้นทางเพลงและดนตรีของ ปู พงษ์สิทธิ์ แนบแน่นอยู่กับดนตรีอย่างที่เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต” ซึ่งแยกไม่ออกจากกระบวนการต่อสู้อันเข้มข้นในทางการเมือง

ภายในสายเลือดจึงระอุเหมือนกับ แอ๊ด คาราบาว

การตัดสินใจในการแก้ปัญหาโดยการกระโดดลงไป “ชาร์จ” อีกฝ่ายซึ่งมีปืนอยู่ในมือ จึงน่าจะเป็นไปโดยสัญชาตญาณและความจัดเจน

จุดที่ไม่ควรมองข้ามคือ ปืน ในมือของ “ทหาร” มากกว่า

พันจ่าอากาศเอกคนนั้นโดยพื้นฐานคือ การเป็นทหารอาชีพ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอาวุธปืนและการต่อสู้อยู่แล้วเหมือนกับเป็นเรื่องปกติ

จึงไม่แปลกที่เมื่อไม่พอใจก็นึกถึง “ปืน”

เพราะว่าการมีปืนอยู่ในความครอบครองเป็น “อำนาจ” อย่างหนึ่ง และอำนาจนี้ก็สามารถบันดาลอะไรให้ได้อย่างง่ายดายโดยอัตโนมัติเสมอมา

จึงไม่คุ้นชินกับการถูกขัดใจ

ยิ่งเมื่อเสพสุราเข้าไปได้ที่พอสมควร ยิ่งทำให้ความต้องการในอารมณ์มีความร้อนรุ่มและถลำลงไปในลักษณะตามใจตัวเองมากกว่าปกติ

ทำให้ชูปืนขึ้นยืนท้า ปู พงษ์สิทธิ์

ไม่ว่าจะมองการปรากฏขึ้นของ “ปืน” เบื้องหน้าการร้องเพลงของ ปู พงษ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะมองการตัดสินใจของ ปู พงษ์สิทธิ์ ว่ามีแรงขับมาอย่างไร

แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “บทเรียน”

บทเรียนของคนที่มี “ปืน” อยู่ในความครอบครอง บทเรียนของคนที่มีเพียงกีตาร์และเสียงเพลงอยู่ในสายเลือดว่าเมื่อเผชิญกับ “ปืน” จะทำอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน