ยิ่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวกดดัน ป.ป.ช.ให้ยื่นอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคม 2551 มากเพียงใด

โอกาสที่ “รายละเอียด” ของคดีจะยิ่งปรากฏ ยิ่งมากเพียงนั้น

อย่างน้อย ป.ป.ช.ไม่เพียงแต่จะพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากแต่ยังจำเป็นต้องลงลึกไปในเหตุการณ์เมื่อ 9 ปีก่อน

ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นท่าทีและเหตุผลมาจาก “อัยการสูงสุด”

เพราะคดีนี้เมื่อป.ป.ช.ชุดของ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เสนอไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปรากฏว่าสำนักงานอัยการสูงสุดไม่เห็นด้วย

เรื่องนี้จึงเป็นการฟ้องโดย ป.ป.ช.

การเปลี่ยนคณะกรรมการป.ป.ช.ในเวลาต่อมาภายหลังสถานการณ์รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จึงมีความสำคัญ

เพราะ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ มิได้เป็นป.ป.ช.อีกแล้ว

เป็นไปได้ว่าคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหม่อาจมีมุมมองแตกต่างไปจากคณะกรรมการป.ป.ช.ในชุดของ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ก็เป็นได้

ยิ่งเมื่อคำพิพากษาออกมาในทาง “ยกฟ้อง” ยิ่งทรงความหมาย

ที่สำคัญจากกรณีของคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2551 ยังนำไปสู่การเปรียบเทียบกับคดีสลายการชุมนุมนปช.คนเสื้อแดงในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

เท่ากับจุดชนวนและขยายเรื่องออกไปอีก

ระหว่างคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับ คดีสลายการชุมนุมนปช.คนเสื้อแดงมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

ทั้งยังเป็นความแตกต่างในลักษณะชวนให้คิดในเรื่อง “สองมาตรฐาน”

เพราะคดีเมื่อเดือนตุลาคม 2551 มีคนตาย 2 คนหนึ่งตายในที่ชุมนุม คนหนึ่งตายจากระเบิดที่นำเข้าไปในการชุมนุม

เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแต่ใช้ “แก๊สน้ำตา” ยิงเข้าไปเท่านั้น

ขณะที่คดีเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ขยายกรอบจากตำรวจเป็นทหาร และมีการใช้กระสุนจริงกระทั่งตายมากกว่า 90 ศพ

หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2551 หลายเท่า

พลันที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีมติเรียกร้องและกดดันให้ ป.ป.ช.ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคดีสลายการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2551

คล้ายกับ “ปัญหา” จะตกอยู่ในมือ “ป.ป.ช.”

แต่ในความเป็นจริงมีโอกาสสูงเป็นอย่างยิ่งที่ปัญหาจะสไลด์จากมือของ “ป.ป.ช.” กลายเป็นอยู่ในมือของ “คสช.” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน