เมื่อพูดถึงการต่อสู้โดยอาศัยความปรองดอง สมานฉันท์ เป็นเครื่องมือ ผู้คนมักยกตัวอย่างของ เนลสัน แมนเดลา จากแอฟริกาใต้ มาแสดง

ความจริง แมนเดลา มี “บทเรียน” มาหลายแนวทาง

เขาเคยต่อสู้ตามระบบ ตามกฎหมายมาก่อน แต่ชนชั้นปกครองที่มีอำนาจไม่เปิดโอกาสให้ได้ต่อสู้อย่างทัดเทียมกัน

ในสถานการณ์ 1 เขาจึงเลือกต่อสู้ด้วย “อาวุธ”

เนลสัน แมนเดลา อาจเลือกหนทางต่อสู้ด้วยอาวุธและมีความสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์ แต่เขาก็มิได้เป็นคอมมิวนิสต์และไม่เคยชอบแนวคิดในแบบคอมมิวนิสต์

เมื่อสู้ด้วยอาวุธระยะหนึ่งก็เลือกมาใช้หนทางสันติ

การหันมาอยู่ในแนวทางสันติวางอาวุธมาจากเงื่อนไข 2 เงื่อนไข 1 เขามองไม่เห็นว่าหนทางอาวุธจะประสบความสำเร็จ และ 1 เขาถูกจับกุม คุมขัง

ชนชั้นปกครองอาจคิดว่าตนเองทำถูกที่จับกุม คุมขัง

ชนชั้นปกครองอาจประเมินว่า การจับกุมคุมขังนั่นแหละทำให้หนทางต่อสู้ด้วยอาวุธหมดประสิทธิภาพ

และฝ่ายของตนจะยึดครองอำนาจไปได้อีกนานเท่านาน

ตรงกันข้าม การทำให้กระบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธหมดพลังกลับนำไปสู่การต่อสู้อย่างสันติแต่ด้วยกระบวนการอันแยบยล ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

และทำให้แนวทางของ เนลสัน แมนเดลา ประสบความสำเร็จ

ความสำเร็จของแนวทาง เนลสัน แมนเดลา มิได้เกิดจากการวางปืนแล้วงอก่องอขิงอยู่ภายในที่คุมขัง รอความเมตตาจากผู้กุมอำนาจผิวขาว

ตรงกันข้าม แมนเดลา และพวกมิได้งอก่องอขิง

ตรงกันข้าม ขณะที่ด้าน 1 ชนชั้นปกครองกดขี่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ปราบปรามคนผิวสีด้วยรูปแบบต่างๆ นานา

ด้าน 1 ขบวนการของคนผิวสีก็มิได้ยอมจำนน

หากอาศัยเงื่อนไขที่ถูกกดขี่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ นั้นเองมาปลุกระดมประชาชนให้มองเห็นสภาพความเป็นจริงและเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวต่อสู้

ในที่สุด แนวทาง เนลสัน แมนเดลา ก็ได้รับการเห็นด้วย

บทเรียนอย่างสำคัญจากชัยชนะของ เนลสัน แมนเดลา จึงสรุปได้ว่า แม้จะถูกจำขัง ณ คุก ก็สามารถแปรมาเป็นเวทีในการเคลื่อนไหว ต่อสู้ได้

แนวทางการเมืองมิได้หมายถึงการยอมจำนน

หากภายในความเงียบก็จะสามารถก่อให้เกิดพลัง ภายในความสงบก็แผ่พลานุภาพของมันออกไปอย่างกว้างขวาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน