พรรคชาติไทยพัฒนามีรากฐานมาจากพรรคชาติไทย และพรรคชาติไทยแม้จะก่อตั้งโดย 3 นายพล คือ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และ พล.ต.ศิริ สิริโยธิน

แต่ต่อมาได้รับสมญาว่า “พรรคปลาไหล”

คำว่า “ปลาไหล” อาจจะมาจากบุคลิกและความรู้สึกต่อท่วงทำนองของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นเลขาธิการที่มีบทบาทเป็นอย่างสูงภายในพรรค

เมื่อมาถึงยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงเรียกว่า “ปลาไหลใส่สเกต”

ปรากฏการณ์ที่แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาระดับ นายวราวุธ ศิลปอาชา นายประภัตร โพธสุธน ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดินทางไปเยือนจังหวัดสุพรรณฯ

สื่อจึงพาดหัวว่า “ปลาไหล” ซบ “ทหาร”

บรรยากาศถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างการพบกันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับการสรุปอย่างรวบรัดว่า

“นี่แหละบรรยากาศเลือกตั้งมาแล้ว”

คนในวัย 60 ตอนกลางอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมผ่านการเลือกตั้งมาตั้งแต่ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร กระทั่งยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จึงสามารถ “สรุป” ได้อย่างมองเห็น “ภาพ”

คล้ายกับจะเป็นภาพทางด้านของ นายวราวุธ ศิลปอาชา และของ นายประภัตร โพธสุธน อันได้ชื่อว่าเป็น “นักการเมือง” ซึ่งเติบโตอยู่ในสนามแห่ง “การเลือกตั้ง” อย่างเป็นด้านหลัก

ทั้งๆ ที่แท้จริงสะท้อนภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย

ถามว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องการเข้าไปสัมผัสและสัมพันธ์กับทางการเมืองมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องลงพื้นที่

ทั้งยังลงพื้นที่อย่างไม่ธรรมดาอีกด้วย

เพราะไม่เพียงแต่พบกับประชาชนกว่า 1,200 คนที่มารอต้อนรับ ณ วัดป่าเลไลยก์ หากแต่ยังมีนัดกับนักการเมืองซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง

เราจึงเห็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งสูทขับรถไถนา

ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นฝ่ายเสนาธิการ วางแผนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในกระสวนอันปรากฏเป็นข่าวแบบนี้ก็ต้องยอมรับว่านี่คือภาพของ “นักการเมือง”

ทั้งเป็น “นักการเมือง” ในท่วงทำนอง “หาเสียง”

บทสรุปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาว่า “นี่แหละคือบรรยากาศของการเลือกตั้ง” จึงถูกต้องและเป็นจริง

ถูกต้องและเป็นจริงเมื่อมองผ่าน “นักการเมือง”

ขณะเดียวกัน ก็ถูกต้องและเป็นจริงเมื่อมองผ่านกระบวนการหาเสียง สร้างคะแนนนิยมโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง

หรือว่านี่เป็นการหาเสียง สร้างคะแนนจากผู้ที่มิได้เป็น นักการเมืองŽ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน