แล้ววันที่ 19 กันยายน ก็ผ่านไปเป็นปีที่ 11 หากนับจากการรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อปี 2549

มองจากมุมของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เงียบอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นทีมงานที่เคยร่วมกันมา แม้ว่าบางส่วนจะอยู่ในสนช. แม้ว่าบางส่วนจะเคยเป็นสปช. และเป็นสปท. แต่ก็มิได้มีการแสดงตัวออกมา

ไม่มีการออกมาพูดถึงความสำเร็จ

ตรงกันข้าม มีการเคลื่อนไหวจากสถาบันการศึกษา มีการประเมินผลผ่านการอภิปรายและการจัดงาน แนวโน้มดำเนินไปในลักษณะการชี้ให้เห็นผลเสียมากกว่าผลดี

ขณะเดียวกัน ทางด้าน “คสช.” ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร

ชะตากรรมของวันที่ 19 กันยายน ก็เช่นเดียวกันกับชะตากรรมของรัฐประหารอื่นๆ ในกาลอดีต ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนตุลาคม 2520

นั่นก็คือ ผ่านแล้ว ผ่านเลย

เส้นทางอันเป็นเหมือนบทจบของผู้ก่อการรัฐประหารจึงเป็น “คำตอบ” ได้อย่างดีว่า ผลจากการรัฐประหารลงเอยอย่างไร

ขอให้ดูชะตากรรม พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

แม้ว่าชะตากรรมของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ไม่ถึงกับอัปยศอดสู แต่กระบวนการเก็บตัวอย่างเงียบเชียบย่อมเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี

ยิ่งนานวัน ความผิดพลาด ล้มเหลว ยิ่งเผยแสดง

การดำรงอยู่ภายหลังรัฐประหารจึงน่าสนใจเป็นอย่างสูงไม่ว่าจะเป็นหลังรัฐประหารเมื่อปี 2500 หรือหลังรัฐประหารเมื่อปี 2549

หลังรัฐประหาร 2500 นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังรัฐประหาร 2534 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯรัฐประหาร หลังรัฐประหาร 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งหมดอยู่เพียง 1 ปีแล้วก็มีการเลือกตั้ง

จากนั้น นายพจน์ สารสิน ก็กลับบ้าน นายอานันท์ ปันยารชุน ก็กลับบ้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็กลับบ้าน

แล้วก็ครองชีวิตอย่างสงบ เปี่ยมด้วยความสุข

การสรุปบทเรียนจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ย่อมนำไปโยงยังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้โดยอัตโนมัติ

ยังไม่มีใครตอบได้ว่าบทจบจะเป็นอย่างไร

เพราะว่าผลงานจากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2560 ยังอยู่ในการตรวจสอบของประชาชนอย่างตั้งอกตั้งใจ

แม้คสช.และรัฐบาลจะไม่ยอมแถลงก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน