สถานการณ์อันเกี่ยวกับการหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สร้าง “ปรากฏการณ์” ทางด้าน “การข่าว” ระลอกแล้วระลอกเล่า

เริ่มจากคำถามที่ว่า “หายตัว” ไปตั้งแต่เมื่อไร

หากยึดถือตาม “หมายจับ” ที่ออกในตอนสายของวันที่ 25 สิงหาคม ก็ต้องถือเอาวันที่ 25 สิงหาคมเป็นบรรทัดฐาน

แต่กระบวนการสอบสวนต่อมากลับมิได้เป็นเช่นนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ล่าสุดการจับกุมตัว พ.ต.อ.ระดับรองผู้บังคับการพร้อมกับผู้ให้ความร่วมมือกลับเป็นหายตัวไปตั้งแต่คืนวันที่ 23 สิงหาคม

ตรงนี้แหละที่สะท้อนว่าเป็นการหายตัวอย่างรัดกุม

ที่ว่าเป็นการหายตัวอย่างรัดกุมก็คือ เมื่อเป็นการหายตัวก่อนวันที่ 25 สิงหาคมที่มีการออกหมายจับ บรรดาคนขับนำพาไปยังอรัญประเทศ สระแก้ว

ก็สามารถรอดตัวได้ระดับหนึ่ง

เพราะว่าเป็นการนำพาไปก่อนที่ศาลจะออกหมายจับ แม้จะมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศอยู่ก็ตาม เพราะเสมอเป็นเพียงการพาไปที่อรัญประเทศ สระแก้ว เท่านั้น

หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของชายสูง 180 ซ.ม. และรถกระบะ

ไม่ว่าขบวนการนี้จะมี พล.ต.อ.อยู่เบื้องหลัง จะมี พล.ต.ท.อยู่เบื้องหลัง ผ่านปฏิบัติการของระดับ พ.ต.อ.แต่ก็ต้องยอมรับว่ารู้งาน

ทุกอย่างจึงยุติอยู่ที่ พ.ต.อ.ระดับรองผู้บังคับการ

จากนั้น ก็เข้าสู่อีกประเด็นหนึ่งซึ่งก่อภาวะพะอืดพะอมเป็นอย่างสูง นั่นก็คือ ตกลง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ที่ไหนแล้วหลังจากวันที่ 23 สิงหาคม

นั่นก็คือ ยังอยู่ในประเทศหรือว่าออกนอกประเทศไปแล้ว

ทางด้านกระบวนการการเคลื่อนไหวของข่าวสาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกไปนอกประเทศเรียบร้อยแล้ว

เพียงแต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบว่าออกไปอย่างไร

รูปธรรม 1 คือ คำยืนยันของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศว่าอยู่ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

รูปธรรม 1 คือ รายงานข่าวของสื่อต่างประเทศ

มีข้อสังเกตอันมากด้วยความแหลมคมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับก็คือ สื่อต่างประเทศมักก้าวล้ำการข่าวภายในประเทศ 1 ก้าวเสมอ

ไม่ว่าข่าวจากนครดูไบ ไม่ว่าข่าวจากกรุงลอนดอน

กระทรวงการต่างประเทศของไทยทำหน้าที่เพียงแต่รับรองข่าวอันปรากฏผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ ไม่ว่ารอยเตอร์หรือซีเอ็นเอ็น เป็นต้น

งานด้าน “การข่าว” จึงอยู่ในลักษณะ “ตั้งรับ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน