ทั้งๆ ที่เมื่ออยู่เมืองไทย เมื่อประสบเข้ากับคำถามในเรื่อง “การเลือกตั้ง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหงุดหงิดและมากด้วยความไม่พอใจ

แล้วเหตุใดเมื่อไป “ทำเนียบขาว” จึงได้ประกาศออกมา

เป็นการประกาศออกมาโดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็ยอมรับว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้ถามเรื่องการเลือกตั้ง

“แต่ผมได้แสดงความเชื่อมั่นออกไป”

เป็นความเชื่อมั่นที่จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ “ผมก็ยืนยันว่าจะประกาศในปีหน้าแน่” นั่นก็คือ ประกาศในปี 2561

เหตุปัจจัยอะไรจึงมี “ความเชื่อมั่น”

ความจริง นี่มิได้เป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแสดงความเชื่อมั่น ความมั่นใจอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นที่ปรากฏ

เพราะเมื่อปี 2558 ก็เคยประกาศต่อหน้า นายชินโซ อาเบะ ที่โตเกียว

เพราะเมื่อปี 2559 ก็เคยประกาศต่อหน้าผู้นำนานาชาติในที่ประชุมสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

กระทั่งกลายเป็น “ปฏิญญาโตเกียว” และ “ปฏิญญานิวยอร์ก”

แต่การเลือกตั้งก็เลื่อนจากเมื่อปี 2559 เป็นปี 2560 และก็เลื่อนจากปี 2560 มาเป็นปี 2561 อย่างที่ปรากฏผ่าน “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” ล่าสุด

ถามว่าครั้งนี้จะเชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หรือไม่

ใครที่ติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ก่อนและภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ย่อมสัมผัสได้

สัมผัสได้ในความเชื่อมั่น

อาจเป็นเพราะ 1 การได้รับเทียบเชิญจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา คือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอคอยและต้องการ

อาจเป็นเพราะ 1 ความมั่นใจในผลงานและความสำเร็จ

เป็นความสำเร็จบนรากฐานที่สามารถรุกไล่กระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และหากมีอะไรตามมาอีกก็ยังมี “ตัวประกัน” อีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ความพร้อมต่อ “การเลือกตั้ง” ย่อมเต็มเปี่ยม

ถามว่าโอกาสที่ “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” จะดำเนินไปอีหรอบเดียวกันกับ “ปฏิญญา นิวยอร์ก” หรือ “ปฏิญญา โตเกียว” หรือไม่

มีแนวโน้มและความเป็นไปได้

แต่ผลสะเทือนทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับอาจหนักกว่า “ปฏิญญาโตเกียว” และอาจหนักกว่า “ปฏิญญา นิวยอร์ก”

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอเวลาอีก “ไม่นาน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน