เหมือนกับคำประกาศตาม “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสะท้อนความพร้อมในทางการเมือง

เท่ากับนี่คือ “การรุก”

แต่หากจับ “อุณหภูมิ” ในทางสังคมอันเนื่องจากคำประกาศเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม จากสหรัฐอเมริกาก็เริ่มไม่แน่ใจว่า

เป็น “การรุก” หรือว่าเป็น “การรับ”

นั่นก็คือ สัมผัสได้จากสภาวะอันไม่แน่นอนจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สัมผัสได้จากสภาวะอันไม่แน่นอนจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์

ไม่แน่นอนว่าจะเป็นปี 2561 หรือปี 2562

ยิ่งรับฟัง “น้ำเสียง” อันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็น นายจุติ ไกรฤกษ์ มีความแจ่มชัด

อย่าลืม “สถานะ” ทางการเมืองของ 2 คนนี้

คนแรกอยู่ในฐานะหัวหน้าพรรค คนหลังอยู่ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งถือกันว่าชี้ต้นตาย ชี้ปลายเป็นให้กับพรรคประชาธิปัตย์

ความแจ่มชัดก็คือ เห็นด้วยกับคำมั่น คำสัญญา

ขณะเดียวกัน ความแจ่มชัดก็คือ เตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะต้องรักษาคำมั่น คำสัญญาให้แน่วแน่และมั่นคง

เพราะหากไม่ทำตามสัญญา มีโอกาส “เสียคน”

ถึงแม้คำประกาศตาม “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

แต่ทุกอย่างก็เป็นอย่างที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ วิเคราะห์

นั่นก็คือ เป็นการประกาศตามระยะเวลา 240 วันหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ และ 150 วันหลังกฎหมายลูกสำเร็จ

เรียกได้ว่าทำตาม “โควตา” ครบถ้วน

สะท้อนให้เห็นว่า สำนึกของคสช. สำนึกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการยื้อการอยู่ในตำแหน่งให้ยาวนานที่สุด

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน

ท่าทีไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อันเป็นฝ่ายคสช. ท่าทีอันไม่ว่าจะมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันเป็นฝ่ายต้องการเลือกตั้ง

ถามว่าใครเป็นฝ่าย “รุก” ใครเป็นฝ่าย “รับ”

คล้ายกับว่า คสช.อยู่ในฐานะกุมอำนาจรัฐมาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 น่าจะอยู่ในฐานะเป็น “ฝ่ายรุก” ในทางการเมือง

แต่หากสังเกตจริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน