วิเคราะห์การเมือง

ไม่ว่าแกนนำจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าแกนนำจากพรรคเพื่อไทย ล้วนมองและประเมินต่อ “ปฏิญญาทำเนียบขาว” ด้วยความไม่มั่นใจ

ทั้งๆ ที่เป็นการเลือก “กรุงวอชิงตัน” เป็นจุดสำคัญ

ทั้งๆ ที่เมื่อพูดระหว่างแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมแล้ว ยังนำมาย้ำผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในคืนวันที่ 6 ตุลาคมอีก

แต่ “น้ำหนัก” และความมั่นใจก็ยังไม่สูง

ยิ่งเมื่อมีการอธิบายว่าปลายปี 2561 เสมอเป็นเพียงการกำหนดวันเลือกตั้งต่อจากนั้นอีก 150 วัน จึงจะมีการเลือกตั้งในทางเป็นจริง

อาการอืดเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว ยิ่งเด่นชัด

ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นทหาร ทั้งๆ ที่ภายในองค์ประกอบของคสช.มีทหารอย่างเป็นด้านหลัก แล้วเหตุใดความเชื่อถือต่อคำประกาศจึงแผ่วเบาลงอย่างนี้

เรื่องนี้มีจุดเริ่มจาก “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

นั่นเป็นเนื้อความส่วนหนึ่งภายในบทเพลงซึ่งกระหึ่ม 3 เวลาหลังอาหาร เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มรอบเช้าในห้วงหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เมื่อเกิด “ปฏิญญาโตเกียว” ก็เท่ากับจะมีการเลือกตั้งในปี 2559

แต่แล้วก็ได้เกิดปรากฏการณ์คว่ำ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขึ้นในเดือนกันยายน 2558 อันหมายถึงการเริ่มต้นนับ 1 ใหม่

บทสรุปของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” จึงทรงความหมาย

ความหมายมิได้อยู่ที่ว่าแม้จะมี “ปฏิญญา นิวยอร์ก” ต่อหน้า บัน คี มุน ต่อหน้าผู้นำนานาชาติในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ

อันทำให้เชื่อกันว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560

แต่แล้วจากเดือนเมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญประกาศและบังคับใช้ก็เด่นชัดยิ่งว่าปี 2560 จะไม่มีการเลือกตั้ง หากแต่ประเมินกันว่าน่าจะปลายปี 2561

คำประกาศ “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” เหมือนจะเป็น “คำตอบ”

แต่คำตอบไม่สร้างความมั่นใจให้เท่าใดนักว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2561 ตรงกันข้ามปลายปี 2561 เสมอเป็นเพียงการกำหนดวัน

กำหนดวันเลือกตั้งตาม “โรดแม็ป” จึงเลื่อนไปยังปี 2562

ความไม่เชื่อมั่นไม่ว่าจะมาจากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากแกนนำพรรคเพื่อไทย จึงดำเนินไปตามประสบการณ์และความจัดเจน

ประสบการณ์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในยุค “รัฐประหาร”

ความจัดเจนจากที่เห็นอาการเลื่อนแล้วเลื่อนอีกจาก “ปฏิญญา โตเกียว” เป็น “ปฏิญญา นิวยอร์ก” กระทั่งมาเป็น “ปฏิญญา ทำเนียบขาว”

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอเวลาอีกไม่นาน “นานนนนนน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน