หากการพลิกผัน แปรเปลี่ยนในรายละเอียดจาก “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” ในเรื่องคำประกาศการเลือกตั้งผ่าน “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” ดำเนินไปอย่างเป็น “กลยุทธ์”

ก็ต้องถือว่า “ฉุกละหุก” อย่างยิ่ง

เพราะตลอดเวลาจากวันที่ 2 ตุลาคม ที่ “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” เผยแสดงจากกรุงวอชิงตัน กระทั่งเมื่อกล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในตอนค่ำของวันที่ 6 ตุลาคม

ยังดำรง “รายละเอียด” จาก “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” ครบถ้วน

แต่พอถึงเช้าวันที่ 10 ตุลาคมหลังประชุมคสช. กระทั่งเข้าสู่ที่ประชุมครม. แล้วมีการแถลงข่าวในตอนบ่ายก็กลายเป็นคนละเรื่อง

อย่างที่รับรู้กันผ่าน “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล”

กล่าวสำหรับ เนื้อหาโดยรวมก็ยังยึดหลัก “โรดแม็ป” ทุกประการ เพียงแต่เงื่อนไขสำคัญได้แปรเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

นั่นก็คือ จะประกาศเลือกตั้งเมื่อ “กฎหมายลูก” เสร็จ

กลายเป็นว่า แม้ “กฎหมายลูก” ยังไม่พ้นจากมือของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังไม่ได้ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา

ก็สามารถประกาศได้ว่าเป็นเดือนอะไร

แม้ “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” จะเพิ่มความชัดเจน และแสดงความเอาจริงเอาจังของคสช.และของรัฐบาลต่อเรื่อง “การเลือกตั้ง”

คำถามก็คือ ทำไมก่อนหน้านี้จึงไม่ชัดเจน

ความจริง ที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดเป็น “โรดแม็ป” และอ่านแล้วตีความออกมาได้ว่าเป็นปลายปี 2561 นั้น

เป็นการบัญญัติอย่างกว้างๆ และยาวๆ

ไม่ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็สามารถ “ร่น” เวลาได้ ไม่ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็สามารถดำเนินการอย่างรวบรัดได้

แต่ท่านเหล่านั้นก็ใช้ “เวลา” ตาม “รัฐธรรมนูญ” อย่างเคร่งครัด

ท่าทีอย่างนี้แหละที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อาจไม่อยากจะเลือกตั้ง อาจต้องการยื้อและยืดเวลาของการเลือกตั้งให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

กระทั่ง ไม่ต้องเลือกตั้งเลย ก็ล้วนแต่ถูกทำให้แคลงใจ

แม้ความแจ่มชัดจะเป็นที่ต้องการของหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงออกในตอนบ่ายของวันที่ 10 ตุลาคม

แต่ก็เป็นความแจ่มชัดที่ยังมีความไม่แน่ใจดำรงอยู่

เพราะยังไม่ได้เห็นท่าทีที่กระตือรือร้นอย่างเพียงพอจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

แม้คำว่า “ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ” จะดังก้องกังวานอยู่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน