น้ำเสียงที่ออกมาเตือนในเรื่อง “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” ไม่ว่าจะออกมาจากกกต. ไม่ว่าจะออกมาจากนักการเมืองและพรรคการเมือง

สะท้อนความหวาดระแวง แคลงใจ

อย่าไปตำหนิกกต.อย่าง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เลย อย่าไปตำหนินักการเมืองอย่าง นายอำนวย คลังผา หรือแม้กระทั่งอดีตผู้ว่าฯอย่าง นายดิเรก ถึงฝั่ง เลย

มิใช่ว่าเขาไม่เชื่อใน “วาจา” ของ “ชายชาติทหาร”

หากแต่เมื่อมีการเลื่อน “ปฏิญญา โตเกียว” เมื่อมีการเลื่อน “ปฏิญญา นิวยอร์ก” เมื่อมีการแก้ไขถ้อยคำ “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” เกิดขึ้น

สายตาที่มอง “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” ก็ย่อมคลางแคลง

ขอร้องคสช. ขอร้องบรรดา “คุณห้อย คุณโหน” ทั้งหลายภายใน “แม่น้ำ 5 สาย” อย่าได้หงุดหงิดกับบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองเลย

ขอให้ดูจากกรณี “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เถิด

ถามว่าการยกร่างทั้งหมดไม่ได้ถือเอาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 หรือถามว่าการยกร่างทั้งหมดไม่ได้คำนึงถึงอนุสาสน์อันมาจาก นายวิษณุ เครืองาม ว่าด้วย

“ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” หรอกหรือ

แล้วเหตุใดพอเข้าสู่ที่ประชุมสปช.ในเดือนกันยายน 2558 เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เกิดการพลิกผันแปรเปลี่ยน จากที่คิดว่าจะยอมรับกลับกลายเป็นการคว่ำ

อันเป็นที่มาของบทสรุป “เขาอยากอยู่ยาว”

เพราะการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ นั้นเองทำให้ที่เคยร้องในบทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

กลายเป็นของแสลงหู

บทเพลงอันเคยกระหึ่ม 3 เวลาหลังอาหาร เสาร์-อาทิตย์เพิ่มรอบเช้าตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงค่อยหายไป

ไม่ว่าตามสถานีโทรทัศน์ ไม่ว่าตามสถานีวิทยุ

จากนั้นสภาพแปรเปลี่ยนพลิกผันของ “ปฏิญญา” ทั้งหลายที่เคยประกาศต่อชาวโลกและชาวไทยก็กลายเป็นอีกท่วงทำนอง 1 ของคสช.

กระทั่งมาถึง “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” ในที่สุด

ไม่จำเป็นต้องยกเอาบทเรียนจากนิทานอีสปเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ” มาให้เป็นที่แสลงใจหรอก เพราะทุกอย่างมีความแจ่มชัดในตัวเอง

เป็นความแจ่มชัดในเรื่อง “ความเชื่อถือ”

เพราะว่าแต่ละ “ปฏิญญา” ล้วนมีประจักษ์พยาน ไม่ว่า ชินโสะ อาเบะ ไม่ว่า บัน คีมุน ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ คนเหล่านี้ธรรมดาเสียที่ไหน

ความหวาดระแวงจึงใช่ว่าจะมี “ฐาน” ที่มา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน