กรณี “ดาวเรืองแทนดวงใจ” กำลังเป็นหินลองทองอันคมแหลมในการตรวจสอบพลังทางการเมืองของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้อย่างยอดเยี่ยม

จะอยู่ หรือว่า จะไป

ท่าทีจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความเด่นชัดเพราะเห็นว่า “ไม่เหมาะสม” และจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุย

นั่นก็คือ จะ “ปรับทัศนคติ”

ปฏิกิริยาในทางสังคมทางด้านที่เห็นด้วย หนุนเสริมอาจจะยังเงียบๆ แต่ในด้านที่สมน้ำหน้าและแสดงความไม่พอใจอึงคะนึงอย่างเป็นพิเศษ

เหมือนว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะไปมากกว่าอยู่

หากมองอย่างเปรียบเทียบ กรณีของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็แทบไม่แตกต่างไปจากกรณีของ นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อเข้าไปอยู่ในตำแหน่งหมายเลข 1 ในพรรคพลังประชาชน

คนข้างนอกหัวร่อกันครืน คนข้างในก็ไม่เข้าใจ

เพราะว่า นายสมัคร สุนทรเวช มีสถานะในทางการเมืองที่แน่นอน เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์แล้วก็แยกตัวออกมาจัดตั้งพรรคประชากรไทย

ยืนอยู่คนละฟากฝ่ายกับพรรคไทยรักไทย

แต่แล้วหลังสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็ได้รับการโปรโมตให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน

คำถามที่น่าตอบมากกว่า คือ แล้วผลเป็นอย่างไร

การเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ปรากฏอย่างเด่นชัดว่าชัยชนะเป็นของพรรคพลังประชาชนเช่นเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยเคยได้ในปี 2544 และในปี 2548

นี่มิใช่เพราะบารมีของ นายสมัคร สุนทรเวช แน่นอน

แต่ความเป็นจริงที่ยอมรับก็คือ ไม่ว่าใครที่เข้ามาอยู่แถวหน้าของพรรคอันเป็น “อวตาร” แห่งพรรคไทยรักไทย ล้วนได้รับการสนับสนุนจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กระทั่ง นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก

ความเชื่อเมื่อหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก็ยังดำรงอยู่แม้จะผ่านรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มาก็ตาม

นั่นเองจึงได้มีชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

เพียงประสบเข้ากับผลสะเทือนในกรณี “ดอกดาวเรือง แทนดวงใจ” โดยวัดปฏิกิริยาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังไม่น่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย

กว่าจะถึงการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพรรคเพื่อไทยจะต้องผ่านด่านทดสอบทางการเมืองอีกหลายด่าน สาดซัดเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า

เพื่อค้นหาคำตอบว่าจะอยู่ หรือว่าจะไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน