ไม่ว่าในยุค “เลือกตั้ง” ไม่ว่าในยุคหลัง “รัฐประหาร” สภาพทางการเมืองที่ดำรงอยู่อย่างเด่นชัด มิอาจปัดปฏิเสธได้ คือ การเมืองที่อิง “การตลาด”

จึงเรียกว่า การตลาด “การเมือง”

เราจึงเห็น นักการตลาด ปรากฏตั้งแต่เมื่อนำเสนอเรื่อง “ปรองดอง” เรื่อยไปจนถึงเรื่อง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

ประชาชนจึงมิได้รับรู้เพียงคำว่า “กระชับพื้นที่”

หากแต่ยังรับรู้ต่อคำว่า “น้ำรอการระบาย” ต่อคำว่า “สระพัง” แทนที่จะเป็นการพาดหัวอย่างอึกทึกครึกโครมในทำนองว่า “เขื่อนแตก” หรือ “เขื่อนพัง”

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของ “การตลาด”

ก็เพราะเรื่องของ “การตลาด” นั่นแหละเราจึงรับรู้คำแถลงอันเต็มไปด้วยความยินดีเมื่อ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดทำเนียบขาวต้อนรับ

เพราะนี่คือสิ่งที่รอคอยตั้งแต่หลังเดือนพฤษภาคม 2557

และเพราะเรื่อง “การตลาด” มิใช่หรือ ทำให้กระเส็น กระสายข่าวการมาเยี่ยมยามประเทศไทยของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กลายเป็นเรื่องการเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล

อันเป็นกระบวนท่าเดียวกันกับของ แจ๊ก หม่า

ที่เรื่องเหล่านี้กลายเป็นข่าวใหญ่ พาดหัวตัวไม้นั่นแหละทำให้มีความจำเป็นต้องตกแต่งวาดสีสันให้กับการมาของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เพริศพริ้งพรรณรายอย่างฉายฉัน

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของ “การตลาด”

อาจเนื่องจากคำนึงถึง “ผลรับ” มากเกินไปทำให้ “นักการตลาด” เกิดความโน้มเอียงที่จะตีปี๊บให้อึกทึกครึกโครมมากกว่าจะคิดว่าผลเป็นอย่างไร

เหมือนที่เคยโหมประโคมในเรื่อง “ปรองดอง”

จากเดือนกุมภาพันธ์ เรื่อยมาจนถึงเดือนตุลาคมจะเข้าเดือนพฤศจิกายนอยู่รอมร่อ มีใครรู้บ้างว่าแผน “ปรองดอง” ไปซุกอยู่ที่ไหน

ทำไมจึงเงียบอย่างผิดปกติ

ทั้งนี้ แทบไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องของ แจ๊ก หม่า หรือเรื่องของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ว่าผลลงเอยอย่างที่โหมประโคมกันหรือไม่

นี่คือการตลาดที่ขาด “ฐาน” รองรับ

ไม่ว่าจะเป็น “การเมือง” ไม่ว่าจะเป็น “การตลาด” มิใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะระบายสีลงไปให้วิลิศมาหราเพียงใด ก็ทำ

ที่สำคัญก็คือ ต้องคำนึงถึง “ความเป็นจริง”

ที่ล้มเหลวทั้งหมด ลองย้อนกลับไปพลิกดูรายละเอียดซึ่งซุกเอาไว้ใต้พรมก็จะประจักษ์ว่าเมื่อละเลย “ความเป็นจริง” ความล้มเหลวย่อมติดตามมา

ยิ่งละเลยถึงขั้น “นิมิตเรื่อง” ยิ่งทำให้ถลำลงลึก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน