แม้การออกโรงในเรื่องกฎหมายการตรวจเงินแผ่นดินของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จะเพื่อปกป้องและเข้าข้างบทบาทของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส

ในฐานะที่เคย “กากี่นั้ง” กันมาก่อน

แต่เมื่อคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทในชั้นหลังของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส คือ นายสมชาย แสวงการ สนช.ผู้เอาการเอางานยิ่ง

คอมเมนต์อันมาจาก นายสมชาย แสวงการ จึงเป็น “ประเด็น”

เพราะว่าข้อสังเกตต่อบทบาทของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อันมาจาก นายสมชาย แสวงการ คือการตักเตือนด้วยความปรารถนาดีว่า “ให้รู้จักพอ”

คำว่า “พอ” นี่แหละที่ “ร้อนแรง”

ความจริง คำว่า “พอ” ในที่นี้มีพื้นฐานมาจากหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา อิงแอบแนบชิดอยู่กับแนวทาง “สันโดษ” รู้จักประมาณตน

คนที่นำคำนี้มาใช้อย่างยอดเยี่ยม คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2531 บรรดาพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งและรวบรวมกันเดินทางเข้าบ้านสี่เสา เทเวศร์ เพื่อมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้

คำปฏิเสธจาก “ป๋าเปรม” สั้นกระชับว่า “ผมพอแล้ว”

พอเพราะว่าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2523 ผ่านการยุบสภา ผ่านการพยายามจะทำรัฐประหารโค่นล้มมาหลายครั้ง กระทั่งเดือนสิงหาคม 2531 จึงปฏิเสธ

เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีเศษ

กล่าวสำหรับ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อาจยังมีวาสนาและความผูกพันอยู่กับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงแสดงความต้องการจะยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหาอีก

นี่ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน

แต่เมื่อคำว่า “ให้รู้จักพอ” หลุดออกจากปากของ นายสมชาย แสวงการ จึงนำไปสู่คำถามอันแหลมคมจากความเป็นจริงนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา

ปรากฏว่า นายสมชาย แสวงการ ดำรงตำแหน่งทาง “การเมือง” มาตลอด

หากเป็นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยผ่าน “การเลือกตั้ง” โดยประชาชนก็คงไม่มีข้อสังเกตอะไรมากมาย แต่ทั้งหมดล้วนเป็น “การลากตั้ง” ทั้งสิ้น

ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อปี 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อปี 2557

การตอบโต้ระหว่าง นายสมชาย แสวงการ โดยมี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ามาแจมด้วยคราวนี้ดำเนินไปในกระสวนของภาษิตไทยแต่โบราณ

นั่นก็คือ ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง

นั่นก็คือ เหมือนกับถือ “ดาบ” อันคมกริบอยู่ในมือแข็งแกร่ง จึงกระหน่ำฟาดเข้าใส่เป้าหมายด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูง

แต่บังเอิญที่เป็น “ดาบสองคม” เท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน