เนื่องจากมูลฐานแห่งการยื่นใบลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล มาจากความเห็นต่างภายในของคสช.และของรัฐบาล ผลสะเทือนนี้ย่อมตามมาต่อกระบวนการปรับครม.

เหมือนกับรัฐบาลกำลังต่อกรกับ 2 พรรคการเมือง

1 คือพรรคประชาธิปัตย์ และ 1 คือพรรคเพื่อไทย ที่ออกโรงมาแสดงความเห็น ตอดนิด ตอดหน่อย ด้วยความคึกคัก

ไม่ว่าจะเป็น นายวัชระ เพชรทอง ไม่ว่าจะเป็น นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด

กระนั้น เสียงเหล่านี้ก็เสมอเป็นเพียงปัจจัยจาก “ภายนอก” อาจทำให้หนวกหูและไม่เป็นที่สบอารมณ์บ้าง แต่ก็มีผลน้อยมากต่อการตัดสินใจของคสช.

ความคิด “ต่าง” ที่ดำรงอยู่ภายในต่างหากสำคัญ

ความคิดต่างในที่นี้มิได้หมายถึงการไม่ยอมรับต่อคสช. หรือการไม่ยอมรับต่อรัฐบาล มิได้เป็นเรื่องที่ยกระดับไปถึงขนาดนั้น

หากเป็นความคิดต่างในรายละเอียดของบุคคล

อย่างที่มีความเห็นว่ามีความจำเป็นต้องลดรัฐมนตรี “สายทหาร” ประสานเข้ากับความเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเน้นไปยังกระทรวง “เศรษฐกิจ” เป็นสำคัญ

ตรงนี้แหละคือความละเอียดอ่อน

เหมือนกับเป็นเรื่องที่เห็นกันชัดๆ ว่าใครเป็นอย่างไรนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา แต่หากดูจากที่ปรับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกเมื่อเดือนสิงหาคม 2558

ก็ต้องยอมรับในความซับซ้อนของสถานการณ์

ไม่ว่าจะเป็นในยุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นในยุค นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

ย่อมตระหนักใน “ปัญหา” ที่ดำรงอยู่

ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทิ้งทุ่นเอาไว้ด้วยคำว่า “แบ่งแยกแล้วปกครอง” นั้นมิใช่ว่าจะไม่ดำรงอยู่ในยุคของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

อย่างน้อย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ไม่คุม “เกษตร” และ “ดีอี”

เช่นเดียวกับในยุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็ไม่สามารถคุมกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคมได้ตามที่ต้องการ

ยัง “แบ่งแยกและปกครอง” เหมือนเดิม

การจะขยับแต่ละกระทรวงจึงถูกครอบคลุมด้วยระบบคิดที่เคยยึดครองตั้งแต่ยุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ต่อเนื่องมายังยุค นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

หากมีการเปลี่ยนตรงนี้ก็ถือว่า “ปลดล็อก”

หากมีการเปลี่ยนตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่า ความเชื่อมั่นต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีเหนือกว่าความเชื่อมั่นต่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อย่างเด่นชัด

นั่นก็เท่ากับยอมรับว่า “ปัญหา” อยู่ ณ ที่ใด
 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน