ยิ่งระยะเวลาในการปรับครม.ทอดยาวไปเนิ่นนานเพียงใด ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาขัดแย้งอันเกิดขึ้นในกระทรวงแรงงานมิได้เป็นเรื่องส่วนตัว

หากแต่เนื่องมาแต่กระบวนการ “บริหาร” จัดการ

แม้ทางด้านคสช.และรัฐบาลจะอ้างว่าการลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ก็เพราะต้องการออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว

แต่ดูเหมือนจะมีน้อยคนเชื่อตามไปด้วย

อย่างน้อยที่สุดก็มีเหตุมาจาก การย้ายอธิบดีกรมการจัดหางาน อย่างน้อยก็มีเหตุมาจากการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาอันสัมพันธ์กับกระบวนการแรงงานต่างด้าว

ที่เด่นชัดเป็นอย่างมากก็คือใช้อำนาจ “มาตรา 44”

การที่กระแสทางสังคมพุ่งเป้าเรียกร้องต้องการให้เสาะหาบุคลากรอย่างที่เรียกว่า “มืออาชีพ” เข้ามาดำรงตำแหน่งโดยเฉพาะในกระทรวงอันเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจ”

นับว่าเด่นชัดอย่างที่สุด

เด่นชัดว่าความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากยุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ต่อเนื่องมายังยุคปัจจุบันสะท้อนถึงปัญหาที่ดำรงอยู่

ปัญหา 1 คือ ปัญหาขาด “มืออาชีพ”

แต่ปัญหา 1 ก็น่าจะมีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการของคสช.และของรัฐบาล ดังที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เคยสรุปอย่างรวบรัดว่า

เนื่องแต่ “การแบ่งแยกแล้วปกครอง”

ต้องยอมรับว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานเศรษฐกิจ แต่ก็มิได้กำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจอย่างเป็นจริงและครบถ้วน

มีหลายกระทรวงที่รองนายกรัฐมนตรีไปทำอะไรไม่ได้

ผ่านจากยุคของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาถึงยุคที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

ก็ยังมีหลายกระทรวงที่รองนายกรัฐมนตรีไปทำอะไรไม่ได้

ผลก็คือ การขับเคลื่อนในการวางโครงสร้างในทางเศรษฐกิจไม่เป็นเอกภาพ มีบางกระทรวงดำเนินไปโดยไม่ต้องสนใจความรู้สึกของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

เท่ากับ “การแบ่งแยกแล้วปกครอง” ยังดำรงอยู่

กระแสเรียกร้องต้องการ “มืออาชีพ” ที่มีบทเรียน ประสบการณ์ ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจึงเท่ากับเป็นการกดดันต่อบรรดา “มือสมัครเล่น” โดยตรง

คำถามก็คือ บรรดา “มือสมัครเล่น” เป็นใคร

เฉพาะหน้าก็คือ เป็น “มือสมัครเล่น” อันเคยชินอยู่กับระบบราชการ ไม่มีประสบการณ์การบริหารของภาคเอกชนอันเป็นตัวเศรษฐกิจแท้จริงมาก่อนเลย

รัฐมนตรีที่เป็น “ข้าราชการ” จึงตกเป็น “เป้า”
 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน