สัมผัสท่าทีของพรรคการเมืองและนักการเมืองต่อการปรากฏตัวของ “พรรคพลังชาติไทย” แล้วรู้สึกได้เลยว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองยังจมอยู่กับมิติเก่า

มิติเก่าที่มองต่อ “พรรคทหาร” ในกาลอดีต

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเสรีมนังคศิลา ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติสังคม ไม่ว่าจะเป็นพรรคสหประชาไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคสามัคคีธรรม

ทั้งๆ ที่อยู่ในยุคแห่งรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นความจริงที่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาบนเส้นทางเดียวกันกับรัฐประหารในกาลอดีต ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 2490 หรือปี 2500 หรือปี 2501

แต่ครั้งนี้ทำท่าว่าอาจจะ “ไม่เหมือนเดิม”

ความไม่เหมือนเดิมโดยพื้นฐานที่สุดของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือ การลงความเห็นว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เป็นรัฐประหารที่ “เสียของ”

จึงไม่เพียงแต่จะกำหนดแนวทางเอาไว้โดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 อันเป็นฐานให้กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เท่านั้น

หากแต่ยัง “ปฏิบัติ” อย่างแตกต่างกันออกไป

ความแตกต่าง 1 คือ ไม่มอบอำนาจทางการเมืองให้กับคนอื่น ฝ่ายอื่นเหมือนที่คมช.มอบให้แก่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตรงกันข้าม หัวหน้าคสช.คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเอง

และ 1 ก็คือ คุมตลอด 2 รายทางตาม “พิมพ์เขียว”

คมช.อาจกำหนด “แผนบันได 4 ขั้น” แต่ก็เหมือนกับที่มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั่นเอง

เพียงแต่เปลี่ยนมือ “หวัง” ให้กับ “พรรคการเมือง”

นั่นก็คือ พันธมิตรทางการเมืองที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนกลาง แวดล้อมอยู่กับพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา

เมื่อ “พิมพ์เขียว” นี้ไม่ประสบผลสำเร็จ

การหวนกลับไปใช้บริการของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” จึงเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2551 กว่าจะประสบผลสำเร็จก็ภายหลังจากเดือนพฤศจิกายนและกว่าจะได้รัฐบาลตามแผนบันได 4 ขั้นก็เมื่อเดือนมกราคม 2552

หากทุกพรรคการเมืองติดตามบทบาทของคสช.นับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ลักษณะการกระชับอำนาจดำเนินไปอย่างเข้มข้น

สยบทุกพรรค ทุกกลุ่มในทางการเมือง

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่ากปปส. ไม่ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่านปช. ล้วนถูกจำกัดพื้นที่

มีเพียง “คสช.” เท่านั้นที่ผงาดเด่น กุมเบ็ดเสร็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน