เหมือนกับที่คาดหมายกันว่า หากมีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 1 จะดำรงอยู่อย่างเป็น “ความเชื่อ” มิได้เป็น “ข้อเท็จจริง”

ที่ยังมิได้เป็นข้อเท็จจริงเพราะยังไม่มี “การเลือกตั้ง”

กระนั้น ความเชื่อเช่นนี้ก็ดำรงอยู่อย่างหนาแน่นและมั่นคง ไม่เว้นแม้กระทั่งภายในคสช.และพันธมิตรของคสช.

ไม่ว่าจะเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ไม่ว่าจะเป็น “กปปส.”

ยิ่งเมื่อได้รับการยืนยันจากนักวิชาการแห่งสถาบันพระปกเกล้าซึ่งติดตามกระบวนการเลือกตั้ง นับตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา

ยิ่งทำให้มี “น้ำหนัก” เพิ่มยิ่งขึ้นอย่าง “หนักแน่น”

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ทางการเมืองอันนำไปสู่รัฐประหารไม่ว่าเมื่อปี 2549 ไม่ว่าเมื่อปี 2557 ก็มาจากฐานทางความคิดและความเชื่อเช่นนี้

นั่นก็คือ ความคิดและความเชื่ออันเปี่ยมด้วย “ความกลัว”

ขณะเดียวกัน จะตำหนิพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกปปส.ว่ามีความหวาดกลัวอย่างเกินกว่าเหตุก็ไม่ได้

เพราะเลือกตั้งปี 2544 ก็ชนะ เพราะเลือกตั้งปี 2548 ก็ชนะ

แม้มีการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 แต่พอถึงการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 ก็ชนะ และแม้มีการแย่งชิงอำนาจไปได้ในปี 2551 และมีสถานการณ์อันนำไปสู่การปราบปรามใหญ่ในปี 2553

แต่พอถึงการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ชนะอีก

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่กปปส. ปูทางและสร้างเงื่อนไขให้ก็มีเป้าหมายอย่างเดิมนั่นก็คือ 1 กำกัด 1 กำจัด และ 1 ขจัด พรรคเพื่อไทย

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็เพื่อการนี้

กฎหมายลูกว่าด้วยกกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.และว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก็เพื่อการนี้

แต่ “ความเชื่อ” เดิมก็ยังตามมาหลอกหลอน

การที่ไม่ยอม “ปลดล็อก” จากคำสั่งหัวหน้าคสช. การที่ผลิต 4 คำถามตามมาด้วย 6 คำถามหรือแม้กระทั่งระดมสรรพกำลังทั้ง กอ.รมน. ประสานกระทรวงมหาดไทยก็เพื่อการนี้

นั่นก็คือ ตั้งเป้าไว้มิให้ “เสียของ”

ยิ่งทอดระยะเวลาของ “การปลดล็อก” อันสัมพันธ์ไปยัง “การเลือกตั้ง” ยาวนานมากเพียงใด ยิ่งสะท้อนความไม่มั่นใจ ยิ่งสะท้อนความหวาดกลัว

หวาดกลัวว่าจะต้องพ่ายแพ้ “อีก”

หวาดกลัวว่าพลันที่เข้าสู่สนามของ “การเลือกตั้ง” ชัยชนะก็จะเป็นของพรรคเพื่อไทย ความพ่ายแพ้ก็จะตกเป็นของตน

จากปัจจัยนี้เองจึงต้อง “ยื้อ” จึงต้อง “เลื่อน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน