พลันที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง กับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เอ่ยถึงประเด็นการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อต้านนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

ข้อเสนอที่เคยมาจาก นายพิชัย รัตตกุล ก็ได้รับความสนใจ

ข้อเสนอเหล่านี้เป็นความเพ้อฝันอย่างแน่นอน หากคำนึงถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน ไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ไม่ว่าจะต่อเนื่องมาก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เพราะปมแห่งความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยนั้นเองที่เกิดข้ออ้างในเรื่องการปรองดองและทำให้มีข้ออ้างในเรื่องความไม่สงบ

กระทั่ง คสช.ต้อง “ธำรง” อำนาจต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นการดำรงอยู่ของรัฐประหารโดย “คมช.” เมื่อปี 2549 ไม่ว่าจะเป็นการดำรงอยู่ของรัฐประหารโดย “คสช.” เมื่อปี 2557

มี “ความขัดแย้ง” เป็น “ภักษาหาร”

อาจจะมีตัวละครอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อาจจะมีตัวละครอย่างกปปส. แต่เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียด

เป้าหมายใหญ่ที่จะต้องจัดการคือ “พรรคการเมือง”

เพียงแต่ว่าเป็นพรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องมายังพรรคพลังประชาชนและปัจจุบันก็คือพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคการเมืองอื่นโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เข้ามามีส่วนร่วม

ส่วนร่วมในฐานะเป็น “แนวร่วม” กับ “รัฐประหาร”

เวลาจากก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งมาถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 ต่อเนื่องมากว่า 1 ทศวรรษน่าจะทำให้คนในแวดวงการเมืองค่อยๆ ตาสว่างขึ้น

“ตาสว่าง” และมองเห็นความเป็นจริง

เป็นความจริงที่ว่าโดยภาพที่ปรากฏคู่ของความขัดแย้งคือระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยเป็นด้านหลัก

แต่ถามว่า 2 พรรคนี้ได้อะไรหรือ

เอาเข้าจริงๆ 2 พรรคนี้ก็กลายเป็น “เหยื่อ” ในทางการเมืองพอๆ กัน ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ พรรคประชาธิปัตย์อาจเบาหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็น “เหยื่อ”

หากมองจากรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สะท้อนเด่นชัดว่ามีการมอง “พรรคการเมือง” อย่างไร

มองอย่างเกลียดชัง มองอย่างหวาดระแวง

ต้องการทำให้พรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก แหลกกระจายเหมือนการเมืองใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 อย่างที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” และต้องการครองอำนาจอยู่อย่างยาวนาน

ความเป็นจริงนี่ต่างหากที่พรรคการเมืองต้องวิเคราะห์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน