กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งเสียงดังต่อชาวประมง ณ ตลาดปลา จังหวัดปัตตานี เมื่อประสานเข้ากับกรณีสลายการชุมนุมที่แยกสำโรง จังหวัดสงขลา

ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งไป 2 จุด

จุด 1 แสดงให้เห็นว่าบทบาทของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ไม่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้เหมือนที่โฆษณา ประชาสัมพันธ์

จุด 1 แสดงให้เห็นบทบาทของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”

ถามว่าปัญหาอันเกี่ยวกับความเดือดร้อนของชาวประมง ถามว่าปัญหาอันเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เคยมีการพิจารณาใน “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือไม่

น่าเศร้าที่รายละเอียดของเรื่องราวอันเกี่ยวกับชาวประมง รายละเอียดของเรื่องราวอันเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ระหว่าง “ราชการ” กับ “ชาวบ้าน” แตกต่างกัน

หากศึกษาเรื่องราวจากปากของชาวประมง ปรากฏว่าเขาเคยยื่นหนังสือผ่านสำนักงานเรื่องราวร้องทุกข์ไปยังนายกรัฐมนตรีแล้วหลายครั้ง เป็นเวลาหลายปี

ก็เงียบหายไป

ขณะเดียวกัน ความเดือดร้อนของชาวเทพา-ปัตตานี อันเนื่องแต่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็ถูกมองเห็นอย่างเป็นปฏิปักษ์ และมีการจัดตั้งประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมา

พร้อมกับเปิด “ค่ายทหาร” ให้แถลงข่าว

หากมองอย่างเปรียบเทียบกับชาวบ้านในภาคส่วนอื่นของประเทศ ไม่ว่าภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคกลาง

ถือได้ว่า “ภาคใต้” มีสายสัมพันธ์อันดี

เว้นจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสถานการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นแล้ว จังหวัดอื่นๆ ล้วนแต่แนบแน่นและมีความโน้มเอียงที่จะสนับสนุนคสช. สนับสนุนรัฐบาล

ดังนั้น เมื่อประสบเข้ากับการส่งเสียงดัง

ดังนั้น เมื่อประสบเข้ากับการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ประสานกับฝ่ายปกครอง เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมคุมขัง จึงถือเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่

เป็นสภาพทางการเมืองอันเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2560

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหากมองจากเครดิตที่ชาวภาคใต้เคยมอบให้กับคสช.และรัฐบาล ก็ไม่น่าที่จะพัฒนาหรือขยายกระทั่งบานปลาย

แกนนำกปปส.ก็ดี แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ก็ดี

น่าจะมีบทบาทร่วมกับคสช.และรัฐบาล เพื่อประสานรอยร้าวมิให้เกิดการพัฒนาออกไปอีก เพราะหากไม่สามารถยุติลงได้โดยราบรื่นก็ไม่น่าจะเป็นผลดี

ไม่ว่ากับชาวบ้าน ไม่ว่ากับคสช.หรือรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน