หากดูจากท่าทีของแกนนำสำคัญ ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย กรณีที่มีข้อเสนอให้เป็นพันธมิตรกันเพื่อต้านนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

คสช.ต้องยิ้มที่มุมปากด้วยความพึงใจ

เพราะนั่นแสดงว่าไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถจับมือกันได้อย่างง่ายดาย

ต่างฝ่ายต่างถือว่า อีกพรรคเป็น “ปรปักษ์”

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยอันถือว่าเป็น 2 พรรคใหญ่ยังยืนอยู่คนละมุม และซดหมัดกันอย่างดุเดือดเข้มข้นอย่างนี้โอกาสย่อมเป็นของนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

และนั่นจะเป็นฝ่ายใดเล่าหากมิใช่ “คสช.”

ถ้ามองผ่านเกมและการวางหมากในทางการเมืองไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

คนที่ “วางแผน” กำหนด “เกม” ถือว่าเยี่ยม

เยี่ยมเพราะไปอยู่ข้างหลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่รู้ว่าที่ออกมาเปล่ง “พี่น้องเอ๊ย” นั่นมีคนชักเชิดอยู่

กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็เมื่อมี “กระสุน” สาดเข้าใส่กว่า 100 นัด

เยี่ยมเพราะไปอยู่ข้างหลัง “กปปส.” อย่างแยบยล เหมือนกับการสร้างกระแส เพรียกหา “มวลมหาประชาชน” เป็นฝีมือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายถาวร เสนเนียม แต่พอเรียกเข้าสโมสรกองทัพบกในวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ก็เรียบร้อย

เรียบร้อยจากวิภาวดีจนถึงสี่แยกสำโรง สงขลา

เหมือนกับความขัดแย้ง แตกแยกที่ดำรงอยู่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

คือ ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย

อาจเป็นเช่นนั้น เพราะ 2 พรรคนี้ขับเคี่ยวกันบนเวทีการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีบางพรรคถลำไปกวักมือเรียกอำนาจนอกระบบเข้ามาก็เรียบร้อยสำหรับคนที่เล่นบท “ตาอยู่”

ตราบจนป่านนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรู ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นศัตรู

ในที่สุดก็เสร็จคนเล่นบทเป็น “กรรมการ”

การที่มีเสียงเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์จับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นเรื่องเพ้อฝันและเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

แต่น่าเศร้าก็ตรงที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้คิด

คำว่า “คิด” ในที่นี้ก็คือ คิดในเชิงกลยุทธ์ คิดในเชิงวิเคราะห์ เพื่อเข้าถึง “ปัญหา” ที่เป็นจริงว่าอยู่ตรงไหนกันแน่

อยู่ที่ “พรรคการเมือง” หรือว่าอยู่ที่ “อื่น”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน