การปะทะในเชิง “นโยบาย” ระหว่างรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกตัวอย่าง 1 ที่พลัง 2 พลังนี้เริ่มขาดความเกรงอกเกรงใจระหว่างกัน

ก่อนหน้านี้เคยมีเรื่อง 6 คำถาม

ก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องราคายางพาราที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่หัวแถวยันท้ายแถว เรียงหน้ากันมาเสนออย่างเป็นระบบ

แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ

แต่สดๆ ร้อนๆ ซึ่งกำลังแลกหมัดอย่างชนิดหมัดต่อหมัดสัมพันธ์กับเรื่อง “ข้าว” สัมพันธ์กับแนวทาง “ประกันราคา” อันเป็นจุดที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามชู

สะท้อนทั้ง “การเมือง” สะท้อนทั้ง “เศรษฐกิจ”

ภายในพรรคประชาธิปัตย์บรรดาแกนนำที่เคยเข้าไปร่วม “ชัตดาวน์” กับกปปส.อาจยังเกรงอกเกรงใจต่อคสช.และต่อรัฐบาล

ภายใต้ความเชื่อว่าเป็น “รัฐบาลของเรา”

แต่หากจับ “อาการ” จาก นายถาวร เสนเนียม ก็จะเริ่มเห็นได้ในลักษณะแปรเปลี่ยน และเพิ่มความแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ขณะเดียวกัน บรรดาส.ส.ก็เริ่มเห็นความจำเป็น

เพราะหลังจากแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่จังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง รวมถึงจังหวัดชุมพร ถูกอุ้มเข้าค่ายทหารเพื่อ “ปรับทัศนคติ”

ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าคสช.ประเมิน “ประชาธิปัตย์” แค่ไหน

ถามว่าเส้นแบ่งอันเป็น “จุดตัด” แหลมคมอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับทางด้านคสช.อยู่ตรงไหน

ตอบได้เลยว่า เริ่มที่ 4 คำถาม

เมื่อตามมาด้วย 6 คำถาม อย่าว่าแต่พรรคประชาธิปัตย์เลยที่มองออก หากแม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยก็อ่านทะลุ ปรุโปร่ง

นั่นก็คือ คสช.ไม่เอาพรรคการเมือง “เก่า” แน่นอน

เป้าหมายของคสช.จะวางอยู่ที่พรรคพลังชาติไทยประสานเข้ากับพรรคประชาชนปฏิรูปที่สามารถสั่งได้มากกว่า

ตรงนี้แหละที่เกิดอาการขาดผึง

ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแม็ปหรือภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 หรือไม่ หรือว่าจะยื้อและเลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนถึงปี 2562

แต่สัมพันธ์ระหว่างคสช.กับพรรคการเมืองไม่ค่อยดีนัก

ยิ่งยื้อการเลือกตั้งออกไปยาวนานมากเพียงใด สภาพอย่างที่หลายคนทำนายว่า “ตัวใครตัวมัน” ก็จะสัมผัสได้อย่างแจ่มชัด

ในที่สุด ก็เกิดลักษณะ “ตะลุมบอน” ในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน