คำว่า “ขาลง” ได้กลายเป็นสร้อยเติมให้กับคำว่า “รัฐบาล” มากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหลังจากเกิดสถานการณ์ทางการเมืองในภาคใต้

เริ่มจากกรณีของเกษตรกรชาวสวนยาง

ตามมาด้วยหลายเรื่องราวที่แสดงออกในห้วงแห่งการประชุมครม.สัญจร เช่น เสียงตวาดที่ตลาดปลา ปัตตานี และการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำ “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่แยกสำโรง สงขลา

แล้วลงเอยด้วยการปล่อยแสงใส่ร้ายป้ายสีให้กับ “แบมุส” เจื้อยแจ้ว

พลันที่ภาพแหวนและนาฬิกาหรูยี่ห้อ ริชาร์ด มิลล์ ปรากฏระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอถ่ายภาพครม.ประยุทธ์ 5 หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ก็กลายเป็นเรื่องแบบระเบิด เถิดเทิง

ถามว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมี “ปรากฏการณ์” อย่างที่เห็นในพื้นที่ภาคใต้ หรืออย่างที่เห็นบริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เลยหรือ

มีแต่ก็มิได้อึกทึกแบบนี้

การเชิญตัวแกนนำชาวบ้านเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหารมิใช่ว่าชาวตรัง ชาวพัทลุง หรือชาวชุมพรจะประสบเป็นรายแรก

ตรงกันข้าม ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานก็มีมาตลอด

ตรงกันข้าม การประชุมครม.สัญจรก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาแล้ว ไม่ว่าจะในจังหวัดภาคกลาง จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดภาคอีสาน

แต่ก็กลายเป็นเรื่องอึกทึกเมื่อไปเยือนภาคใต้

การออกโรงของ นายชวน หลีกภัย ต่อปัญหาอันเกี่ยวกับรายได้ครัวเรือนของภาคใต้ถดถอยจึงได้รับความสนใจอย่างเป็นพิเศษ

กระทั่ง ทำเนียบรัฐบาลต้องส่ง “โฆษก” ออกมาชี้แจง

สภาพการณ์ทั้งหมดนี้จึงถูกกวาดรวมเหมือนกับเป็นเงาสะท้อนอันแสดงให้เห็นถึงสภาวะ “ขาลง” ของรัฐบาลและของคสช.โดยเฉพาะนับแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน หากสำรวจตามความเป็นจริงของสถานการณ์ก็จะประจักษ์ว่า ภาวะถดถอย ขาลงของรัฐบาลนี้เกิดขึ้นขณะที่อำนาจยังอยู่ในมือของคสช.และของรัฐบาลอย่างเต็มเปี่ยม

ไม่มีพลังจากกลุ่มใดในทางการเมืองทำอะไรได้เลย

แม้หากมองจากพลานุภาพอาจถือได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ กปปส.หรือแม้กระทั่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังเป็นพลังที่ยืนต่อกรกับคสช.และรัฐบาลได้

แต่พลังการเมืองหรือพรรคการเมืองอื่นล้วนปวกเปียก

พรรคเพื่อไทยหรือนปช.แทบไม่ต้องกล่าว เพราะไม่เพียงแต่หัวขบวนถูกไล่รุกจนต้องหนีออกนอกประเทศ ที่เหลือบางส่วนก็อยู่ในที่คุมขังอันจำกัด

มีแต่คสช.และรัฐบาลเท่านั้นที่ยังแข็งแกร่ง มั่นคง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน