ระหว่างกระบวนท่าไม่เอานายกรัฐมนตรี “คนนอก” ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ดูเผินๆ คล้ายกับจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่สุดท้ายปลายทางไม่เหมือนกัน

หาก นายกรัฐมนตรีคนนอก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตรงนี้เหมือนกัน แต่ที่ไม่เหมือนกันก็คือ พรรคเพื่อไทยนอกจากไม่เอาจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ไม่เอาเพื่อที่คนของตนจะเขาไปสอดสวมแทน

เพราะรู้อยู่แล้วว่ายากอย่างยิ่งที่จะเป็นไปได้

ตรงกันข้าม กระบวนท่าของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินไปในลักษณะ “ต่อรอง” เพื่อให้เปลี่ยนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์

เท่ากับเป็นการต่อสู้ในลักษณะ “ต่อรอง”

หากมองตามสภาพความเป็นจริง ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับคสช.มิใช่ว่าผีไม่ยอมเผา เงาไม่ยอมเหยียบ

อย่างน้อยบทบาทของ “กปปส.” ด้านหลักก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์

ไม่เพียงแต่แกนนำคือ บรรดา ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศลาออกแล้วเข้าเคลื่อนไหว หากแม้กระทั่งกรรมการบริหารของพรรคก็เข้าไปร่วมเป่านกหวีด

ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็น นายจุติ ไกรฤกษ์

กล่าวสำหรับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พรรคที่โดนคสช.เล่นงานหนักก็คือพรรคเพื่อไทย มิใช่พรรคประชาธิปัตย์

เพิ่งจะ 3 ปีหลังเท่านั้นที่พรรคประชาธิปัตย์โดน

เมื่อคสช.ได้คนระดับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปเป็นกองเชียร์อย่างเต็มที่จึงคลายความสนใจต่อพรรคประชาธิปัตย์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ยิ่งตอนหลังได้ “นักการเมือง” จากหลายซุ้ม

ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองเลือดดีจากนครปฐม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองเลือดดีจากนครราชสีมา ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองเลือดดีจากสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองเลือดดีจากชลบุรี

พรรคคสช.ก็เริ่มแข็งแกร่งและถึงกับอาจตัดหางปล่อยวัดพรรคประชาธิปัตย์ในสายของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ตอนนี้แหละจึงเห็นการแผลงฤทธิ์จากพรรคประชาธิปัตย์

กระบวนท่าของพรรคประชาธิปัตย์จึงแตกต่างไปจากกระบวนท่าของพรรคเพื่อไทย ที่ผีไม่ยอมเผา เงาไม่ยอมเหยียบกับพรรคคสช.อย่างแจ่มชัด

ตรงกันข้าม พรรคประชาธิปัตย์ทั้งตี ทั้งดึง

นั่นก็คือ ตีเพื่อให้ประจักษ์ในบทบาทและความหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ดึงเพื่อสร้างโอกาสทางการเมืองเหมือนกับที่เคยได้เมื่อปี 2551

ความเป็นจริงทางการเมืองเช่นนี้คือท่วงทำนองของพรรคประชาธิปัตย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน