สงสัยหรือไม่ว่าเหตุใดระยะหลังพรรคเพื่อไทยระมัดระวังเป็นอย่างสูงในการวิพากษ์วิจารณ์คสช. วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

จับได้ว่าไม่เล่น “ส่วนตัว” แต่เล่นใน “หลักการ”

นั่นก็คือ หากเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” หากเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับพ.ร.บ. “ประกอบ” รัฐธรรมนูญ หากเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับ “การเลือกตั้ง”

จึงเข้าไปแตะ เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์

อาจมองได้ว่าพรรคเพื่อไทยกลัว ไม่กล้าดับเครื่องชนโดยตรง ปล่อยให้ฟากของพรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทรุนแรง แข็งกร้าวมากยิ่งกว่า

แต่จริงๆ แล้วพรรคเพื่อไทย “สำเหนียก” รู้ใน “สถานการณ์”

สถานการณ์นับแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปล่อยของว่าด้วย “กองหนุน” ออกมาในวันที่ 28 ธันวาคม เป็นสถานการณ์ซึ่งไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

เป็นการส่งท้าย “ปีเก่า” เป็นการต้อนรับ “ปีใหม่”

เพราะคำว่า “กองหนุน” นั้นมิได้หมายถึงทหารกองหนุน ตรงกันข้าม เป็นกองหนุนในลักษณะอันเป็น “แนวร่วม” ในทางการเมือง

เนื่องจาก “กองหนุน” นั่นแหละ คสช.จึงได้มาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แต่จากเดือนพฤษภาคม 2557 มาถึงเดือนธันวาคม 2560 เด่นชัดอย่างยิ่งว่า “กองหนุน” เหลือน้อยและเหลืออย่างชนิดที่สรุปได้ว่าแทบหมดแล้ว

จากนั้นไม่นาน บรรดา “กองหนุน” ก็ออกโรง

ถามว่าการออกโรงของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล การออกโรงของ นายวีระ สมความคิด การออกโรงของ นายศรีสุวรรณ จรรยา พุ่งเป้าไปที่ไหน

ไม่เหมือนก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 แน่นอน

และสังเกตอย่างไรก็ไม่เหมือนก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อันเป็นกระดานหกให้กับคสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอน

ตรงกันข้าม วิพากษ์วิจารณ์คสช.เล่นงานเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น

คล้ายกับเป้าหมายใหญ่เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นาฬิกากว่า 20 เรือนประดับวงแขน แต่ก็ย่อมสะเทือนไปถึงคสช. สะเทือนไปถึงรัฐบาลอย่างมิอาจปฏิเสธได้

นี่แหละคือ รูปธรรมแห่ง “กองหนุน” ที่ไม่ยอมหนุน

สถานการณ์นับแต่ปลายเดือนธันวาคม 2560 เป็นต้นมา จึงมิได้เป็นสถานการณ์เหมือนเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ที่กองหนุนยังชโยโห่ร้องให้กับคสช.

ตรงกันข้าม แม้แต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็หงุดหงิด

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็รู้อยู่แล้วว่ามากด้วย “บารมี” พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รู้ดีที่สุด พล.อ.สุจินดา คราประยูร รู้ดีที่สุด แล้วไฉนพรรคเพื่อไทยไม่รู้

เมื่อ “ช้างสาร” ปะทะกัน บรรดาหญ้าแพรกก็ต้อง “หลบ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน