แม้จะมีการยืนยัน ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะจากเหล่ากรรมาธิการแห่งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

ไม่มี “ใบสั่ง” ทางการเมือง

แต่ผู้คนเชื่อหรือไม่ว่า ความพยายามในการยืดเวลาเพื่อเลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งออกไปอีกอาจเป็น 90 หรืออาจเป็น 120 วันมาจากการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการ

ไม่มีอะไรเกี่ยวกับ “คสช.” แม้แต่น้อย

ความนิ่งที่ดำรงอยู่ภายในสังคมนั่นแหละอาจเป็น “คำตอบ” แต่ก็เป็นคำตอบอันสะท้อนถึงความรู้สึกอัดอั้นตันใจอย่างเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

รอเพียงว่าเมื่อไรความอัดอั้นตันใจจะได้รับการระบายออก

หากใครติดตามบทบาทของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช.มาตั้งแต่แรกได้รับแต่งตั้งภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ใครคนนั้นย่อมมี “คำตอบ” อันเด่นชัด

ท่าทีของสภาแห่งนี้ที่กระเหี้ยนกระหืออย่างยิ่งในการจัดการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช่ว่าจะไม่มีการแสดงออกอย่างเปิดเผย ไม่ปิดบังอำพราง

เมื่อมติออกมาบางคนถึงกับทำท่า “เชือดคอ” ให้เห็น

การผ่านร่างพ.ร.บ.บางร่างพ.ร.บ.อย่างชนิด 3 วาระรวด การเล่นงานคนของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย อย่างต่อเนื่อง

เท่ากับเป็น “ใบเสร็จ” ว่าทุกอย่างล้วนทำตาม “ใบสั่ง”

ปรากฏการณ์ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นปรากฏการณ์ซึ่งแทบไม่แตกต่างกันเลยกับการลงมติในที่ประชุมสปช.เมื่อเดือนกันยายน 2558

คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

หากไม่มี “ใบสั่ง” ออกมาจากคสช.มติจะเป็นไปเช่นนั้นได้หรือ ในเมื่อสมาชิกสปช.ล้วนเป็นการคัดเลือกและแต่งตั้งมาโดยคสช.

และทุกอย่างล้วนอยู่ภายใน “แม่น้ำ 5 สาย”

การปฏิเสธว่าไม่มี “ใบสั่ง” การระบุว่าเป็นเอกสิทธิ์โดยชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สามารถแสดงออกได้ แต่ประเด็นก็คือ ชาวบ้านเขาเชื่อหรือไม่

ความเชื่อถือต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่า

นับแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลภายหลังการยึดอำนาจของคสช.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 บรรดาคสช.ต่างอยู่ในเกมใหญ่ในทางการเมือง

นั่นก็คือ เกมแห่งความเชื่อมั่น เกมแห่งความศรัทธา

นับแต่มี “ปฏิญญาโตเกียว” เมื่อปี 2558 นับแต่มี “ปฏิญญานิวยอร์ก” เมื่อปี 2559 นับแต่มี “ปฏิญญาทำเนียบขาว” เมื่อปี 2560

คสช.กำลังเล่นอยู่กับความเชื่อถือของ “ชาวบ้าน” อย่างแหลมคมยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน