วิเคราะห์การเมือง

หากจับอารมณ์และความรู้สึกของ “กองหนุน” ต่อคสช.และต่อรัฐบาล ด้านหลักยังให้คะแนนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ค่อนข้างสูง ยังอยากให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป

แต่ที่หงุดหงิด คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ยิ่งเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาปกป้องและเตือนกระแสในทางสังคมให้ลดราวาศอกกับกรณี “นาฬิกา” หรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

บรรดา “กองหนุน” ยิ่งหงุดหงิด และไม่พอใจ

แต่ความหงุดหงิดและไม่พอใจก็จำกัดกรอบและขอบเขตอยู่เพียงการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้น ยังไม่ถึงกับหงุดหงิดและไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปด้วย

น่าเห็นใจอย่างยิ่ง

ลองสำรวจ “กองหนุน” ที่ออกมาตั้งวงเชียร์คสช.และเชียร์รัฐบาลอย่างลงลึกไปในรายละเอียดก็จะสัมผัสได้ในความเป็นจริงนี้

ถามว่าคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดหรือไม่

หากเทียบกับในห้วง 2 ปีแรกภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ต้องยอมรับว่าคะแนนลดลงเป็นลำดับ

เรื่องนี้ไม่ว่า “กรุงเทพโพลล์” ไม่ว่า “สวนดุสิตโพล” เด่นชัด

หากถามลึกลงไปอีกว่าทำไมคะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงลดลงและยิ่งเข้าเดือนมกราคม 2561 ยิ่งลดหนักในระดับร้อยละ 16 ขึ้นอย่างน่าใจหาย

คำตอบเพราะ “คนแวดล้อม” เป็นสำคัญ

เช่นนี้แหละบรรดา “กองหนุน” จึงดำเนินกลยุทธ์ในการเรียกร้องด้วยการพยายามแยก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาจาก “คนแวดล้อม” ที่คอยรั้ง คอยดึง

ตอนปรับครม.ระบุว่าเป็น “รัฐมนตรีทหาร”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยินยอมขานรับด้วยการปลด พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศรัย ออก

และนำ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี

แต่พอมาถึง ณ วันนี้ บรรดา “กองหนุน” รุกคืบไปอีกก้าวใหญ่ด้วยข้อเรียกร้องที่ว่าต้องพิจารณาถึงตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วย

ซึ่งยากอย่างยิ่งที่จะเป็นไปได้

หากดูจากกระบวนท่าของ “กองหนุน” ตั้งแต่ปรับครม.ก่อนเดือนธันวาคม 2560 ถือได้ว่าเป็นกระบวนท่าที่เรียกว่า “กินทีละคำ” เล่นงานทีละคน

เดือนธันวาคม 2560 ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

มาถึงเดือนมกราคม 2561 ก็รุกคืบไปอีกก้าวใหญ่โดยพุ่งเป้าเข้าใส่กรณีอื้อฉาวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

จะสำเร็จหรือไม่จำเป็นต้องติดตามและรอคอย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน