เหมือนกับความต้องการของคสช. คือ ต้องการใช้วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่สน.ปทุมวัน เพื่อ “ปิดเกม” มิให้เกิดการ Start Up ขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

สัมผัสได้จากการกำหนด “กลยุทธ์”

ทำไมจึงมีการวางกรอบของ “ผู้ถูกหา” ออกมาเป็น 3 ระดับ 3 กลุ่ม โดยเริ่มจาก 7 แล้วพัฒนาเป็น 39 และประกาศล่วงหน้าไปยัง 66

โดยข้อกล่าวหาก็ไม่เหมือนกัน

เหมือนกับมี คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 กับ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เป็นพื้นฐาน

แต่จุดสำคัญอยู่ที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

แม้กระทั่งการกำหนดวันรายงานตัวตาม “หมายเรียก” จะถือเอาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นบรรทัดฐาน จากนั้นก็ถือเอาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นกระดานหกสำคัญ

นั่นก็คือ พัฒนาไปสู่การออก “หมายจับ”

เป้าหมายอย่างแท้จริงก็คือ ต้องการ “ปิดเกม” ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ มาแล้วเพราะเป็นวันศุกร์ และจะอาศัยปัจจัยนี้นำไปสู่การคุมขังจนถึงวันจันทร์

แต่บังเอิญทางด้าน MBK 39 ไหวทันเสียก่อน

กระนั้น ทางด้านคสช.ก็เริ่มขยักที่ 2 โดยถือเอา “หมายเรียก” ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นจุดสิ้นสุด จากนั้นก็พร้อมจะพัฒนาไปสู่ “หมายจับ”

เป้าหมายอย่างแท้จริง คือไม่ให้มีวันที่ 10 กุมภาพันธ์

น่าสนใจก็ตรงที่ทางด้าน MBK 39 ก็อาศัยไม่ว่าจะเป็นวันที่ 2 หรือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นเหมือนกับกระดานหก มิใช่จุดสุดท้าย

สถานีของพวกเขาอยู่ที่วันที่ 10 กุมภาพันธ์

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของ นายอานนท์ คำภา แม้คนแรกจะไม่ระบุแน่ชัด แต่คนหลังตรงไปตรงมาก้าวข้ามจาก 8 ไปยัง 10 กุมภาพันธ์ ตรงแน่ว

เหมือนกับทุกอย่างเป็นการชักเย่อในทางการเมือง แต่คสช.ต้องการปิดเกม ขณะที่ MBK 39 ต้องการ Start Up อีกครั้งหนึ่ง

เพียงแต่เปลี่ยนจากแยกปทุมวันมาเป็นถนนราชดำเนิน

แม้จะผ่านสถานการณ์ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ณ สน.ปทุมวัน มาแล้ว แต่ยังไม่มีใครให้คำตอบที่แน่ชัดได้ว่า สถานการณ์ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ จะเป็นอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นคสช. ไม่ว่าจะเป็น MBK 39

เพราะคำตอบอย่างแท้จริงของการ Start Up มิได้อยู่ที่ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม มิได้อยู่ที่ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์

หากแต่อยู่ที่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ มากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน