ความคาดหมายที่ว่ากระแสข่าว “เสือดำ” แห่งทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี เหมือนกับจะเป็น “ตัวช่วย” ทำให้กระแสการรุกไล่ต่อ “นาฬิกา” หรูยุติลงโดยพื้นฐาน

อาจเป็นเช่นนั้นในเบื้องต้น

แต่พลันที่ปรากฏเสียงของ “หมอธี” ดังผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงบีบีซีภาคภาษาไทยมาจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน

“ตะกอน” อันทำท่าจะนอนก้นก็พลุ่งโพลงขึ้นมา

เพราะคนพูดไม่เพียงแต่เป็น “นายแพทย์” ซึ่งได้รับความเชื่อถือ หากแต่ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในรัฐบาลอีกด้วย

ทำให้เรื่อง “นาฬิกา” ยังดำเนินต่อไป

แม้ว่าเสียงของ “หมอธี” จะมีส่วนในการต่อให้เรื่อง “นาฬิกา” เป็นซีรีส์ที่ไม่ยอมจบง่ายๆ แต่ก่อนหน้านี้ไม่นานกรณียืมเงิน 300 ล้านบาทของอดีตผบ.ตร.ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

ไม่เพียงเพราะดำรงตำแหน่งเป็นถึง “ผบ.ตร.”

หากแต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ เป็นการยืมเงินจำนวน 300 ล้านบาทจากเจ้าของสถานอบอาบนวด ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าเป็นอาชีพที่มากด้วยความเสี่ยงในทางกฎหมาย

ความล่อแหลมอยู่ตรงที่คำว่า “ยืม” นั่นเอง

หากว่าการยืมนาฬิกาเพื่อนมามากกว่า 20 กว่าเรือนมิได้เป็นเรื่องผิดปกติ การยืมเงิน 300 ล้านบาทจากเจ้าของสถานอบอาบนวดก็มิได้ผิดปกติ

ตรงนี้ต่างหากที่มีความอ่อนไหวในเชิงจริยธรรม

กรณีของ “หมอธี” จึงเป็นการแสดงออกในลักษณะอันเสมือนกับเป็น “ตัวแทน” แห่งความรู้สึกในทางสังคมที่ดำรงอยู่อย่างแหลมคมยิ่ง

ไม่ว่าจะต่อกรณี “นาฬิกา” ไม่ว่าจะต่อกรณี “300 ล้านบาท”

ปมเงื่อนมิได้อยู่ที่ว่าเจ้าของเรื่องซึ่งเข้ามาพัวพันมีความเห็นความรู้สึกอย่างไร หากที่สำคัญคนในแวดวงที่เกี่ยวข้องที่เป็นทหารที่เป็นตำรวจรู้สึกอย่างไรอีกด้วย

กรณีของ “หมอธี” จึงกลายเป็นเรื่องครึกโครม

เท่ากับเป็นการเสนอคำถามต่อ “หมอธี” เองด้วยว่า เมื่อรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจรุนแรงถึงระดับนี้แล้ว เหตุใดจึงยังอยู่ร่วมเรือลำเดียวกันอีก

ไม่ละอายแก่ใจ ไม่แสดงการปฏิเสธออกไปหรือ

ในที่สุด กรณีของ “หมอธี” จะดำเนินไปคล้ายๆ กับกรณีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจต่อการใช้ “มาตรา 44”

แล้วก็ตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน

การลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนก่อนนำไปสู่การปรับครม.อย่างที่เรียกว่า “ประยุทธ์ 5” ในเดือนธันวาคม

แต่กรณีของ “หมอธี” จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ยังต้องติดตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน