ไม่ว่าในที่สุดชะตากรรมของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.จะก้าวไปในทิศทางใด

แต่ก็ล้วนไม่เป็นผลดีต่อ “คสช.”

เพราะสังคมรับรู้ฤทธิ์เดชในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาแล้วว่าส่งผลให้โรดแม็ปการเลือกตั้งต้องเลื่อน

เลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

พลันที่มองเห็นว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.อาจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เสียงร้องอ๋อก็ประสานขึ้น

น่าจะต้องมีการ “เลื่อน” โรดแม็ปออกไปอีก

เหมือนกับสิ่งที่เรียกว่า “อภินิหารทางกฎหมาย” จะเป็นสภาพอันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในยุคคสช.โดยเฉพาะในห้วง 4 ปีหลังรัฐประหาร

เป็นธรรมดาเหมือนกับบทสรุปเมื่อเดือนกันยายน 2558

นั่นก็คือ ปฏิบัติการในที่ประชุมสปช.เมื่อเดือนกันยายน 2558 โดยการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อันเป็นที่มาของคำว่า

“เขาอยากอยู่ยาว”

เมื่อเกิดการแปรเปลี่ยนจาก “ปฏิญญาโตเกียว” เป็น “ปฏิญญานิวยอร์ก” เป็น “ปฏิญญาทำเนียบขาว” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากปี 2558-2561

ทุกคนก็ร้อง “อ๋อ” โดยพร้อมเพรียง

กระบวนการใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” ทำให้ภาพลักษณ์ของคสช.เด่นชัดขึ้นในบทสรุปของประชาชนทั้งที่เคยเป็น “กองเชียร์” และที่ไม่ได้เป็น “กองหนุน”

นั่นก็คือ เด่นชัดว่า “อยากอยู่ยาว”

ไม่ได้มาเหมือนคมช.เมื่อตอนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ที่มาเพียง 1 ปีแล้วก็อำลาจากไป ตรงกันข้าม คสช.อยู่มาจนถึงปี 2561

และยังไม่มีวี่แววว่าจะอำลาจากไป

ขณะเดียวกัน เด่นชัดว่า คสช.จะใช้กระบวนการเลื่อน “การเลือกตั้ง” ออกไปเรื่อยๆ เพื่อดำรงรักษาอำนาจอันตนได้มาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

คสช.กำลังสร้างความชอบธรรมบนฐานแห่งการ “ไม่เลือกตั้ง”

จากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนมีนาคม 2561 อำนาจจากฐานแห่งการ “ไม่เลือกตั้ง” ยังอยู่ในมือของคสช.อย่างแน่นอนและเด่นชัด

โดยที่ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใดแน่

แม้ว่าจะมี “รัฐธรรมนูญ” แต่กระบวนการทุกอย่างก็ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างแห่ง “มาตรา 44” และยังไม่มีการปลดล็อกให้กับ “พรรคการเมือง”

ความไม่แน่นอนกำลังกลายเป็นสภาพแน่นอนมากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน