อย่าว่าแต่พรรคประชาธิปัตย์เลยที่จะต้องพบกับคำถามในเรื่องการบอยคอตเลือกตั้ง การเข้าร่วมเป่านกหวีดกับมวลมหาประชาชน

พรรคชาติไทยพัฒนาก็โดน พรรคภูมิใจไทยก็โดน พรรคเพื่อไทยก็โดน

พรรคการเมืองใดที่ตั้งเป้าหมายว่าจะส่งผู้สมัครระดับเขตให้ครบ 350 เขตทั่วประเทศเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับ 150 ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ

ล้วนมีสิทธิ์ต้องโดน “คำถาม” อันค้างคานี้ทั้งสิ้น

อย่างน้อยชาวบ้านต้องอยากรู้ว่าคิดอย่างไรกับ “รัฐประหาร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือนกันยายน 2549 และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แล้วพรรคพลัง “คสช.” จะหลุดรอดไปได้อย่างไร

ก็เหมือนกับที่พรรคอนาคตใหม่ได้ตั้งคำถามว่าด้วยการสูญเสียใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมาอันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมประเทศไทยนั่นแหละ

ไม่เพียงแต่ “คนรุ่นใหม่” จะมีข้อสงสัย

ชาวบ้านไม่ว่าจะในกทม. ไม่ว่าจะในภาคกลาง ไม่ว่าจะในภาคเหนือ ไม่ว่าจะในภาคใต้ ไม่ว่าจะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือล้วนมีสิทธิตั้งคำถาม

เมื่อมี “คำถาม” พรรคการเมืองต้องมี “คำตอบ”

ยิ่งบรรดาพรรคการเมืองที่ต้องการเชียร์คสช. ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียิ่งจะถูกรุมล้อม

หากตอบไม่กระจ่างก็ยากอย่างยิ่งที่จะได้คะแนน

การเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือมีความพยายามจะยื้อ ถ่วงและหน่วงเวลาออกไปด้วยกระบวนท่าแบบใดก็ตาม

ในที่สุดก็จะต้องมี ยากยิ่งที่จะเลี่ยงหรือหนีได้

และพลันที่ “การเลือกตั้ง” มาถึงความหมายก็หมายความว่า 1 เสียงของประชาชนเริ่มดังและทรงความหมาย

ใครที่คิดจะหยิบชิ้นปลามันง่ายๆ ก็เท่ากับเพ้อฝัน

พรรคการเมืองในแบบพรรคมวลมหาประชาชน พรรคพลังประชารัฐ พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ จะถูกเสนอคำถาม

แบบเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์เจอที่ธุรกิจบัณฑิตย์

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ระหว่างแนวทาง “รัฐประหาร” กับแนวทางการได้อำนาจมาโดยกระบวนการ “เลือกตั้ง” มีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัด

1 งัดปืน งัดรถถังออกมาเป็น “อาวุธ”

1 งัดนโยบาย งัดความซื่อสัตย์ จริงใจและกล้าเผชิญกับทุกปัญหา ณ เบื้องหน้าประชาชนกว่าจะได้รับการยอมรับและหย่อนบัตรลงคะแนนให้

ใครเป็นคนจริง ใครเป็นตัวปลอม เห็นได้ไม่ยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน